หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ลักษณะเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นกับข้อควรระวัง

โดย นศภ. สุพิชชา ศิลาพัชรนันท์ เผยแพร่ตั้งแต่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2557 -- 181,905 views
 

ปัจจุบันยารูปแบบสูดพ่นได้รับความนิยมในการรักษาหรือบรรเทาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
เป็นอย่างมาก เช่น การใช้ยาในโรคหอบหืด หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยาในรูปแบบนี้มีข้อดีคือสามารถนำส่งยาเข้าสู่หลอดลมหรือปอดได้โดยตรง ยาจึงออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบอื่นๆของร่างกายได้ รวมทั้ง
ลดปริมาณยาที่ต้องใช้ได้เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาด้วยวิธีอื่น แต่ยารูปแบบสูดพ่นมักมีวิธีการใช้ยุ่งยากและซับซ้อน ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมักมีวิธีการใช้แตกต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์แต่ละแบบมีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการพ่นยา และส่วนประกอบที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อนำส่งยาไปยังบริเวณที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์
ได้ดี ทำให้การใช้ยาเกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และมีผลข้างเคียงต่ำที่สุด

ในที่นี้จะกล่าวถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่พบมากในท้องตลาด 2 รูปแบบ คือ Metered Dose Inhaler และ Dry Powder Inhaler

1. Metered Dose Inhaler (MDI)

MDI เป็นเครื่องมือสูดพ่นยา ภายในบรรจุยาแขวนลอยอยู่ในก๊าซเหลว (liquefied gas) ในรูปแบบยาแขวนตะกอน (suspension)

ยาจะถูกฉีดพ่นออกมาผ่านหัวฉีดโดยอาศัยแรงดันจากก๊าซเหลวได้เป็นละอองฝอยของยาในปริมาณที่เท่ากันทุกครั้งของการกดพ่นยา ตัวยาจะถูกส่งต่อไปยังหลอดลมหรือปอดได้โดยอาศัยการหายใจเข้าของผู้ใช้ยา ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดได้แก่ Ventolin® Evohaler เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่ประกอบด้วยตัวยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น สำหรับบรรเทาอาการจับหืดเฉียบพลันSeretide® Evohaler เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่ประกอบด้วยยาสูตรผสมระหว่างยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวกับยาสเตียรอยด์สำหรับควบคุมอาการของโรคหอบหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สิ่งสำคัญของการใช้ยาในรูปแบบนี้คือควรเขย่าหลอดยาก่อนการใช้ยาทุกครั้งเพื่อให้ยาที่ถูกผสมอยู่กับก๊าซเหลวในรูปแบบของยาแขวนตะกอนกระจายตัวได้ดีในก๊าซเหลวนั้นก่อนพ่นยา นอกจากนี้ผู้ใช้ยาควรหายใจเข้าแบบ “ช้า และ ลึก” หลังกดพ่นยาในทันทีเพื่อเพิ่มปริมาตรการหายใจ ทำให้ยาถูกนำส่งไปยังปอดได้ หากการพ่นยาไม่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าจะทำให้ละอองยาส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ในช่องปากแทนในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเข้าให้สัมพันธ์กับการกดพ่นยาได้แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ร่วมกับ spacer

2. Dry Powder Inhaler (DPI)

DPI เป็นเครื่องมือสูดพ่นยา ภายในบรรจุยาในรูปแบบผงแห้งผสมกับสารเพิ่มปริมาณอื่น เพื่อลดการเกาะกลุ่มของผงยา ทำให้ผงยาไหลได้ดี ง่ายต่อการผลิตและไม่เกาะกันเป็นกลุ่มก้อนขณะสูดพ่น การใช้ยาในรูปแบบ DPI อาจไม่จำเป็นต้องพ่นยาให้สัมพันธ์กับการหายใจเหมือนรูปแบบ MDI ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีหลากหลายชนิด เช่น Pulmicort® Turbuhaler เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูดพ่นที่ประกอบด้วยตัวยาสเตียรอยด์ Spiriva® HandiHaler ประกอบด้วยตัวยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นาน Seretide® Accuhaler และ Symbicort® Turbuhaler ประกอบด้วยยาสูตรผสมระหว่างยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวกับยาสเตียรอยด์ ยาที่ยกตัวอย่างดังกล่าวทั้งหมดเป็นยาสำหรับควบคุมอาการของโรคหอบหืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สิ่งสำคัญของการใช้ยาในรูปแบบนี้ คือการหายใจเข้าแบบ “เร็ว แรง และ ลึก” เพื่อให้ผงยาที่อาจเกาะกลุ่มอยู่กับสารเพิ่มปริมาณหลุดออกจากกัน และทำให้ยาเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนลึกได้ นอกจากนี้ เนื่องจากยาที่บรรจุอยู่ภายในเป็นผงแห้ง จึงไม่ควรพ่นลมหายใจเข้าเครื่องสูดพ่น เพราะอาจทำให้ผงยาฟุ้งกระจาย และความชื้นจากลมหายใจอาจทำให้ผงยาจับตัวเป็นก้อนได้ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือห้ามทำความสะอาดเครื่องสูดพ่นชนิดนี้ด้วยน้ำเพราะอาจทำให้ผงยาภายในเครื่องได้รับความชื้น ควรทำความสะอาดโดยใช้ผ้าแห้งเช็ดเท่านั้น

ประเภทของ DPI ที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่

ประเภทของ DPI

รายละเอียดของเครื่องมือ

Turbuhaler เป็นเครื่องสูดพ่นยาชนิด multi-unit dose ผงยาทั้งหมดจะบรรจุรวมกัน
อยู่ภายในส่วนที่ใช้กักเก็บผงยาหรือที่เรียกว่า reservoir ก่อนใช้ผู้ป่วยต้องแบ่งยาให้ได้ขนาดการใช้โดยการบิดฐานหลอดยาในทิศทวนเข็มนาฬิกาจนสุด แล้วบิดกลับในทิศตามเข็มนาฬิกา
เพื่อแบ่งผงยาจาก reservoir บรรจุลงในตำแหน่งที่พร้อมสูดผงยา ข้อเสียของเครื่องสูดพ่นยาชนิดนี้คือการที่ผงยาทั้งหมดบรรจุอยู่รวมกัน ทำให้สัมผัสกับความชื้นได้ง่ายกว่าแบบ Accuhaler นอกจากนี้ตัวเลขด้านข้างหลอดยายังบ่งบอกถึงจำนวนยาที่เหลืออยู่ และตัวเลขจะลดลงทุกครั้งที่มีการใช้ยา

Accuhaler เป็นเครื่องสูดพ่นยาชนิด multi-unit dose การบรรจุยาลงในตัวเครื่องแตกต่างจาก Turbuhaler คือ ผงยาจะถูกบรรจุใน foil-foil aluminum strip แบ่งตามขนาดการใช้แต่ละครั้ง ดังนั้นจึงมีข้อดีคือ ยาจะถูกแกะออกจาก foil-foil aluminum strip เมื่อต้องการใช้เท่านั้น ยาจึงทนต่อความชื้นได้ดีกว่าแบบ Turbuhaler ก่อนใช้ผู้ป่วยต้องเปิดเครื่อง โดยใช้มือข้างหนึ่งจับที่ตัวเครื่องด้านนอกไว้ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือของอีกมือหนึ่งวางลงที่ร่อง ดันนิ้วหัวแม่มือในทิศทางออกจากตัวไปจนสุด จากนั้นให้ถือเครื่องไว้โดยให้ด้านปากกระบอกหันเข้าหาตัว ดัน
แกนเลื่อนออกไปจนสุด จะได้ยินเสียงคลิ๊กเพื่อลอก foil-foil aluminum strip ให้พร้อมสูดผงยา เมื่อดันแกนเลื่อนแล้วควรถือเครื่องสูดพ่นยาให้อยู่ในแนวระนาบเพื่อไม่ให้ผงยาหก เมื่อสูดยาแล้วให้ปิดเครื่องโดยวางนิ้วหัวแม่มือลงบนร่องแล้วเลื่อนกลับเข้าหาตัวจนสุด จนได้ยินเสียงคลิ๊ก แกนจะเลื่อนคืนกลับตำแหน่งเดิมและพร้อมสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป ตัวเลขด้านข้างเครื่องบ่งบอกถึงปริมาณยาที่เหลืออยู่เป็นจำนวนครั้งที่สามารถสูดพ่นยาได้ การสูดผงยาจากเครื่อง Accuhaler จะใช้แรงสูดน้อยกว่า Turbuhaler และ HandiHaler

HandiHaler เป็นเครื่องสูดพ่นยาชนิด single-unit dose ผู้ใช้ยาต้องบรรจุยาซึ่งอยู่ในรูปแคปซูลลงในอุปกรณ์แต่ละครั้งเอง จากนั้นจึงกดปุ่มเพื่อเจาะแคปซูลและสูดผงยาผ่านอุปกรณ์ การสูดผงยาจากเครื่อง HandiHaler จะต้องใช้แรงสูดมากที่สุดในกลุ่ม DPI เนื่องจากต้องอาศัยแรงในการสูดผงยาออกจากแคปซูล เครื่องมือชนิดนี้จึงมีแรงต้านทานการสูดผงยามากกว่า DPI ชนิดอื่นๆ

เนื่องจากยาสูดพ่นมีหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องมือและลักษณะของยาที่บรรจุอยู่ภายใน จึงมีวิธีการใช้และข้อควรระวังแตกต่างกัน ผู้ใช้ยาควรเรียนรู้วิธีการใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การใช้ยาเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

1. Atkins PJ. Dry Powder Inhalers: An Overview. Respiratory Care 2005; 50: 1304-12.

2. Capstick TG, Clifton IJ. Inhaler Technique and Training in People with Chronic Obstructive Pulmonary Disease and Asthma: Effect of Resistance of Inhaler Device on Lung Deposition. [Internet]. 2013 [cited 2014 Apr 11]. Available from: http://www.medscape.org/viewarticle/757312_5

3. Chodosh S, Flanders JS, Kesten S, Serby CW, Hochrainer D, Witek TJ. Effective Delivery of Particles with the HandiHaler® Dry Powder Inhalation System over a Range of Chronic Obstructive Pulmonary Disease Severity. Journal of Aerosol Medicine 2001; 14: 309-15.

4. อัญชลี จินตพัฒนากิจ. เอกสารคำสอนรายวิชา PYDC 404 Pharmaceutics 4 เรื่อง Nasal and Pulmonary Drug Delivery Systems

5. สภาเภสัชกรรม.(2555). คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2555) สภาเภสัชกรรม


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Metered Dose Inhaler Dry Powder Inhaler ผลิตภัณฑ์ยาสูด ยาสูด ข้อควรระวังของการใช้ยาสูดพ่น Inhaler
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้