หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไข้สูงจนชัก เฝ้าระวัง febrile seizure ในเด็กเล็ก

โดย นศภ.ณัฐชยา ชาญวานิชบริการ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 -- 4,810 views
 

บทนำ[1,2]

ภาวะชักจากไข้ (febrile seizures, febrile convulsions) เป็นสาเหตุสำคัญของการเข้าโรงพยาบาลในเด็ก โดยอาการชักมักเกิดขึ้นภายหลังจากมีไข้สูงที่วัดอุณหภูมิได้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส สามารถเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อโดยเฉพาะไวรัส ซึ่งอาการไข้ในเด็กนั้นผู้ปกครองสามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากการสัมผัสบริเวณแผ่นหลังหรือหน้าอกเด็กแล้วรู้สึกว่าร้อนกว่าปกติ หรือเด็กงอแงมากกว่าปกติ มีเหงื่อออก ไม่สบายตัว ดูอ่อนเพลีย อย่างไรก็ตามวิธีที่แม่นยำที่สุดเป็นการวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องเทอร์โมมิเตอร์ ทั้งนี้ทั่วไปภาวะชักจากไข้มักพบในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี ที่ไม่เคยชักโดยไม่มีไข้นำมาก่อน และสาเหตุต้องไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง ไม่ได้มีโรคลมชักอยู่เดิม หรือจากสาเหตุอื่นใดที่ทำให้เกิดอาการชักได้

ลักษณะอาการ[1]

อาการชักมักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกของไข้ โดยสามารถแบ่งอาการชักเป็น 2 ชนิด ดังแสดงในตารางที่ 1

1) ภาวะชักจากไข้แบบธรรมดา (simple febrile seizure) คือ อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั่วทั้งตัว (generalized หรือ tonic-clonic seizure) เกิดขึ้นนานไม่เกิน 15 นาที ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 นาที ไม่มีความผิดปกติจากการตรวจทางระบบประสาทหลังอาการชัก และไม่มีอาการชักซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากชักครั้งแรก

2) ภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อน (complex febrile seizure) คือ การชักร่วมกับไข้โดยที่อาการชักนั้นอาจเกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น เกร็งเฉพาะแขนหรือขา เกิดขึ้นนานกว่า 15 นาที หรือมีความผิดปกติของระบบประสาททั้งก่อนและหลังอาการชัก หรือมีอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำใน 24 ชั่วโมง

ตารางที่ 1 การจำแนกชนิดของภาวะชักจากไข้[1]

ชักจากไข้แบบธรรมดา

(simple febrile seizure)

ชักจากไข้แบบซับซ้อน

(complex febrile seizure)

ลักษณะการชัก 

ชักทั้งตัวแบบเกร็งกระตุก 

ชักเฉพาะที่

ระยะเวลาของการชัก 

ไม่เกิน 15 นาที

นานเกิน 15 นาที 

การชักซ้ำ 

ไม่มีอาการชักซ้ำใน 24 ชั่วโมงแรก

มีอาการชักซ้ำใน 24 ชั่วโมงแรก 

สาเหตุ[1,3]

การวินิจฉัยภาวะชักจากไข้อาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นสำคัญ เพื่อประเมินสาเหตุของอาการ และแยกโรคออกจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน ได้แก่

1) การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ

2) ภาวะผิดปกติของกระบวนการเมแทบอลิซึม เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ โซเดียมในเลือดต่ำหรือสูง

3) โรคลมชัก

ทั้งนี้แม้สาเหตุและกลไกการเกิดภาวะชักจากไข้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุหลักอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม โดยมีการศึกษาพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 3 ที่มีภาวะชักจากไข้ พบความสัมพันธ์กับประวัติครอบครัวที่เคยมีภาวะชักจากไข้เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งหากพี่น้องร่วมบิดามารดามีประวัติชักจากไข้ โอกาสที่เด็กจะชักจากไข้คิดเป็นประมาณ 20% แต่หากบิดามารดามีประวัติชักจากไข้โอกาสที่เด็กจะชักจากไข้จะสูงมากถึง 33%

การรักษา[1,4,5,6]

คำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีที่เด็กมีอาการชักเกิดขึ้นให้ผู้ที่จะทำการช่วยเหลือตั้งสติและปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

1) คลายเสื้อผ้าที่รัดออกจากตัวเด็ก จัดพื้นที่บริเวณที่เกิดการชักให้ปลอดภัย และจับเด็กนอนตะแคงข้างโดยให้ศีรษะต่ำเพื่อป้องกันการสำลัก

2) ห้ามใช้วัสดุใด ๆ มางัดปากหรือให้ยาทางปากขณะมีอาการชักเด็ดขาด

3) หากเด็กมีไข้สูงให้เช็ดตัวโดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดพอหมาด ถูให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว เพื่อทำให้ไข้ลดลงควรเช็ดทุกส่วนของร่างกายอย่างต่อเนื่อง เน้นบริเวณข้อพับต่าง ๆ ใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาที ทั้งนี้ให้ใช้น้ำอุณหภูมิห้อง ไม่ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งในการเช็ดตัวเนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นให้ไข้ขึ้นสูง

4) หลังจากเช็ดตัวจนไข้ลดลงแล้วให้ซับตัวให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าที่บางเบาตามปกติ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าเนื้อหนา 

ทั้งนี้หากมีอาการชักต่อเนื่องนานเกิน 5 นาที ให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์อาจให้ยากลุ่ม benzodiazepines เพื่อหยุดอาการชักตามวิธีการให้ยาที่เหมาะสมดังแสดงในตารางที่ 2 ทั้งนี้การใช้ยากลุ่ม benzodiazepines อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม

ตารางที่ 2 ยาที่ใช้รักษาภาวะชักจากไข้[1]

รูปแบบการบริหารยา

รายชื่อยา

บริหารยาทางหลอดเลือดดำ

  • Diazepam
  • Midazolam

บริหารยาทางทวารหนัก

  • Diazepam

บริหารยาทางกล้ามเนื้อ

  • Midazolam

ถึงแม้จะมีหลายการศึกษายืนยันว่าการให้ยาลดไข้ เช่น paracetamol และ ibuprofen ไม่ได้ช่วยในการป้องกันการเกิดภาวะชักจากไข้ซ้ำ อย่างไรก็ตามการให้ยาลดไข้ก็ยังคงมีประโยชน์สำหรับทำให้เด็กไข้ลดและสบายตัวขึ้น จึงอาจพิจารณาใช้ paracetamol กรณีเด็กอายุมากกว่า 3 เดือน และใช้ ibuprofen กรณีเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ก่อนใช้ ibuprofen ต้องมั่นใจว่าไข้สูงนั้นไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อไข้เลือดออก เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำและเพิ่มภาวะเลือดออกได้ และยาที่ไม่แนะนำให้ใช้ในการลดไข้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี คือ aspirin เนื่องจากสัมพันธ์กับ Reye’s syndrome ที่ถึงแม้จะเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ไม่บ่อย แต่เป็นอาการที่มีความรุนแรงสูงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามขนาดยาลดไข้ที่ใช้ควรได้รับการคำนวณตามอายุและน้ำหนักของเด็กอ้างอิงจากที่ระบุไว้บนฉลากยา

ประเด็นอื่น ๆ ที่ผู้ปกครองมักมีข้อกังวล

ภาวะนี้มีผลต่อระบบประสาทและสติปัญญาเด็กหรือไม่ ?

โดยทั่วไปแล้วภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการหรือการเรียนรู้ของเด็กน้อยมาก มีการเก็บข้อมูลเพื่อดูผลไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว พบว่าส่วนมากแล้วเด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้มีพัฒนาการเรียนรู้ไม่แตกต่างจากกลุ่มเด็กปกติทั่วไป[7,8]

ภาวะนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักในอนาคตหรือไม่ ?

โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักในอนาคตสำหรับเด็กที่เคยมีประวัติชักจากไข้ไม่แตกต่างจากเด็กปกติ โดยเด็กที่เคยชักจากไข้แบบธรรมดาอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคลมชักมากกว่าเด็กที่ไม่เคยชักจากไข้เพียง 1-2% ทั้งนี้หากเป็นการชักจากไข้แบบซับซ้อน หรือในรายที่ครอบครัวมีประวัติโรคลมชักอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ถึง 5-10%[9] อย่างไรก็ตามหากมีภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อนอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่นเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

  1. สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาโรคลมชัก สำหรับแพทย์. กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพรส จำกัด; 2565.
  2. High temperature (Fever) in children [Internet]. nhs.uk. 2017 [cited 2023 May 15]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/fever-in-children/.
  3. Veisani Y, Delpisheh A, Sayehmiri K. Familial history and recurrence of febrile seizures; a systematic review and meta-analysis. Iran J Pediatr. 2013; 23(4):389-95.
  4. Hashimoto R, Suto M, Tsuji M, Sasaki H, Takehara K, Ishiguro A, et al. Use of antipyretics for preventing febrile seizure recurrence in children: a systematic review and meta-analysis. Eur J Pediatr. 2021; 180(4):987-97.
  5. Camfield CS, Camfield PR. Febrile Seizures. In: Encyclopedia of the Neurological Sciences. Elsevier; 2003; 364–6.
  6. Anderson LA. Benzodiazepines: Overview and use [Internet]. Drugs.com. 2014 [cited 2023 Jun 1]. Available from: https://www.drugs.com/article/benzodiazepines.html.
  7. Leaffer EB, Hinton VJ, Hesdorffer DC. Longitudinal assessment of skill development in children with first febrile seizure. Epilepsy Behav. 2013; 28(1):83-7.
  8. Norgaard M, Ehrenstein V, Mahon BE, Nielsen GL, Rothman KJ, Sorensen HT. Febrile seizures and cognitive function in young adult life: a prevalence study in Danish conscripts. J Pediatr. 2009; 155(3):404-9.
  9. Nelson KB, Ellenberg JH. Predictors of epilepsy in children who have experienced febrile seizures. N Engl J Med. 1976; 295(19):1029-33.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ภาวะชักจากไข้ febrile seizures ไข้ในเด็ก ไข้สูง
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้