หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นรูปแบบเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น

โดย นศภ. สิทธิชัย เกตุขาว ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ. อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 8 มกราคม พ.ศ.2564 -- 14,144 views
 

โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ (allergic rhinitis) เป็นโรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยากับสารที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ อาการแสดงที่ปรากฏ ได้แก่ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก ผิวหนังแดงและคัน อาจมีอาการคันบริเวณดวงตาหรือน้ำตาไหลร่วมด้วย พบอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบสูงขึ้นในทุก ๆ ปี1 แม้ว่าอาการของโรคจะไม่ได้รุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหืด โรคโพรงจมูกและไซนัสอักเสบ

ไรฝุ่นบ้านกับการเกิดภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบมีหลายชนิด เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ เป็นต้น ในปัจจุบันพบว่าไรฝุ่นบ้านนั้นเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เนื่องจากไรฝุ่นบ้านพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสได้ยาก ในประเทศไทยพบผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่แพ้ต่อไรฝุ่นบ้านสายพันธุ์ Dermatophagodoides farinae และ Dermatophagoides pteronyssinus ถึงร้อยละ 87.5 และ 25 ตามลำดับ2 จึงมีการคิดค้นวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันการตอบสนองต่อการแพ้ไรฝุ่นบ้าน

วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นคืออะไร?

วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่น เป็นการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) โดยการนำสารก่อภูมิแพ้มากระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย การผลิตวัคซีนทำโดยสกัดโปรตีนจากไรฝุ่นบ้านแล้วนำไปผลิตเป็นวัคซีน ประโยชน์ของวัคซีนคือ ช่วยลดการกระตุ้นการแพ้ใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดและชะลอความรุนแรงของโรคได้3 ในปัจจุบันมีการคิดค้นและผลิตวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง รูปแบบยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น รูปแบบยาพ่นจมูก หรือรูปแบบยาหยอดใต้ลิ้น ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกขายในท้องตลาดแล้ว 2 รูปแบบคือ รูปแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังและรูปแบบยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น

ทำไมต้องเป็นรูปแบบเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น?

วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นรูปแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีข้อจำกัดในการใช้คือ ทำให้ผู้ใช้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีดและต้องมาที่โรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนบ่อยครั้ง จึงมีการคิดค้นวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นรูปแบบยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกและให้ผู้ป่วยใช้งานได้ง่ายขึ้น วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นรูปแบบยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นที่จำหน่ายในประเทศไทยคือ Acarizax® ซึ่งเป็นโปรตีนที่สกัดจากไรฝุ่นบ้าน 2 สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ Dermatophagodoides farinae และ Dermatophagoides pteronyssinus2 จากนั้นนำมาทำให้เป็นผงแห้ง (lyophilized powder) แล้วตอกเป็นยาเม็ด
ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่เปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างวัคซีนรูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังกับรูปแบบเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นโดยตรง มีเพียงผลการศึกษาที่แสดงว่าวัคซีนทั้ง 2 รูปแบบมีประสิทธิภาพเหนือกว่ายาหลอก (ยาที่ผลิตขึ้นมาเลียนแบบลักษณะภายนอกแต่ไม่ได้บรรจุตัวยาสำคัญ)4-6 จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัคซีนรูปแบบใดมีประสิทธิภาพเหนือกว่ากัน

ใครที่สามารถใช้วัคซีนนี้ ต้องใช้นานเท่าไร และมีวิธีใช้อย่างไร?

วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทุกราย ต้องเป็นภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่นบ้าน 2 สายพันธุ์ที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้วัคซีนนี้7 ได้แก่

1. ผู้ป่วยอายุ 12-65 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบจากไรฝุ่นบ้านบางสายพันธุ์ ระดับปานกลางถึงรุนแรงและไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยา4,5


2. ผู้ป่วยอายุ 18-65 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดที่เกิดจากไรฝุ่นบ้านบางสายพันธุ์ แต่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาสูดพ่นสเตียรอยด์6


การเริ่มใช้วัคซีนชนิดนี้ ควรได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยและควรมีผลบวกต่อการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (skin prick test) ต่อไรฝุ่นบ้าน จากการศึกษาทางคลินิก แนะนำให้ใช้วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นรูปแบบเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3 ปี7 โดยจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้ยาต่อเนื่อง 8-14 สัปดาห์

สำหรับวิธีใช้ยานั้น ไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากแผงวางทิ้งไว้ ควรใช้ทันทีหลังจากแกะ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวผลิตมาจากโปรตีนที่นำไปผ่านกระบวนการทำให้แห้ง ความชื้นจะส่งผลให้วัคซีนเสื่อมสภาพ โดยให้วางยาใต้ลิ้นครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง หลังจากอมยาใต้ลิ้นแล้วห้ามกลืนน้ำลายเป็นเวลาอย่างน้อย 1 นาทีและห้ามรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที ในการใช้ยาครั้งแรกต้องใช้ต่อหน้าแพทย์หรือพยาบาล และต้องติดตามสัญญาณชีพก่อนเริ่มใช้วัคซีน จากนั้นเฝ้าสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 30 นาที8

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มใช้วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่น

ถึงแม้ว่าวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นจะมีประโยชน์ แต่วัคซีนนี้มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังหลายประการเช่นเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยจึงต้องมีการสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ อาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงแบบเฉียบพลัน เช่น อาการหายใจติดขัดจากหลอดลมตีบตันเฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำ จึงต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในผู้ที่เริ่มใช้ยาครั้งแรก

สามารถซื้อวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นมาใช้เองได้หรือไม่

ในประเทศไทย สถานะทางกฎหมายของวัคซีนไรฝุ่นรูปแบบยาเม็ดอมใต้ลิ้นถูกจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษที่ใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อวัคซีนนี้ได้ตามร้านขายยา

บทสรุป

การรักษาภูมิแพ้ที่เกิดจากไรฝุ่นบ้านด้วยวัคซีนชนิดนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบหรือโรคหืดที่มีสาเหตุมาจากไรฝุ่นบ้าน และยังไม่สามารถควบคุมอาการได้จากการใช้ยามาตรฐานในการรักษา ซึ่งการพัฒนายาในรูปแบบยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นช่วยให้ผู้ป่วยมีความสะดวกในการใช้วัคซีนมากขึ้น อย่างไรก็ตามควรใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีการติดตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง

1. Genuneit J, Seibold AM, Apfelbacher CJ, Konstantinou GN, Koplin JJ, La Grutta S, et al. Overview of systematic reviews in allergy epidemiology. Allergy. 2017;72:849-56.
2. Ungkhara G, Wangchalabovorn P, Rungruinng P. Prevalence of occupational rhinitis in a Thai medical statistics department. J Med Assoc Thai. 2018;101:153.
3. Jutel M, Agache I, Bonini S, Burks AW, Calderon M, Canonica W, et al. International consensus on allergy immunotherapy. J Allergy Clin Immunol. 2015;136:556-68.
4. Nolte H, Bernstein D, Nelson H, Kleine-Tebbe J, Sussman G, Seitzberg D et al. Efficacy of house dust mite sublingual immunotherapy tablet in North American adolescents and adults in a randomized, placebo-controlled trial. J Allergy Clin Immunol. 2016;138(6):1631-8.
5. Masuyama K, Okamoto Y, Okamiya K, Azuma R, Fujinami T, Riis B et al. Efficacy and safety of SQ house dust mite sublingual immunotherapy-tablet in Japanese children. Allergy. 2018;73(12):2352-63.
6. Virchow J, Backer V, Kuna P, Prieto L, Nolte H, Villesen H et al. Efficacy of a house dust mite sublingual allergen immunotherapy tablet in adults with allergic asthma. JAMA. 2016;315(16):1715-25.
7. Karakoc Aydiner E, Eifan AO, Baris S, Gunay E, Akturk E, Akkoc T, et al. Long term effect of sublingual and subcutaneous immunotherapy in dust mite allergic children with asthma/rhinitis: a 3 year prospective randomized controlled trial. J Investig Allergol Clin Immunol. 2015;25:334-42.
8. Acarizax (house dust mite allergen extract) [product monograph]. Hørsholm, Denmark: ALK-Abello; 2017.

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้