เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ไปซื้อยากินเองเพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหลที่ร้านยา แต่กลับกลายเป็นว่าได้ยาแก้แพ้มาแทน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ายาแก้แพ้จะบรรเทาอาการน้ำมูกไหลได้อย่างไร? ยาแก้แพ้ชนิดง่วงและไม่ง่วงจะใช้อะไรดี?
น้ำมูกไหลที่มีลักษณะใส เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ น้ำมูกไหลจากไข้หวัด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย จะทำให้เกิดอาการของไข้หวัดได้ เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัส รวมทั้งมีการทำงานของต่อมภายในโพรงจมูกให้มีการหลั่งน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยมักมีน้ำมูกใสๆ ตลอดทั้งวัน แต่เมื่อพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาการดังกล่าวจะสามารถหายไปได้เองใน 3-4 วัน ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้เกิดน้ำมูกไหลได้คือ น้ำมูกไหลจากการแพ้ หรือ ภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เป็นต้น ร่างกายจึงตอบสนองต่อสารที่แพ้ด้วยการหลั่งฮีสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น มีผื่นคัน หายใจลำบาก คันจมูก รวมทั้งน้ำมูกไหล อาการจึงเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี ขึ้นกับระยะเวลาที่ได้สัมผัสกับสารที่แพ้นั่นเอง
ยาแก้แพ้ (antihistamine) คือยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนซึ่งหลั่งเมื่อเกิดอาการแพ้ ยาในกลุ่มนี้จึงถูกเรียกสั้นๆ ว่า ยาแก้แพ้ โดยในปัจจุบัน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดั้งเดิม (conventional antihistamines) ที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง และกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines)
สำหรับยากลุ่มดั้งเดิม ยกตัวอย่างเช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine) , ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate), ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine), ทริโปรลิดีน (triprolidine) เป็นต้น นอกจากจะสามารถยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนแล้ว ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน (anticholinergic) ที่ทำให้ต่อมภายในโพรงจมูกหลั่งน้ำมูก ทำให้น้ำมูกลดลง จึงสามารถใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากทั้งสาเหตุไข้หวัดและอาการแพ้ได้ และเนื่องจากยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองไปกดระบบประสาท ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญ คือมีอาการง่วงซึม และอาจพบอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้อีก เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง ซึ่งเป็นผลจากการยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีนที่ส่วนอื่นๆของร่างกาย ในขณะที่ยากลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน ยกตัวอย่างเช่น เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine), ลอราทาดีน (loratadine), เซทิริซีน (cetirizine), เลโวเซทิริซีน (levocetirizine) เป็นต้น จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนโดยไม่ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน ทำให้ใช้บรรเทาอาการน้ำมูกไหลจากภูมิแพ้ได้ดี และพบว่ามีผลข้างเคียงต่ำกว่ากลุ่มดั้งเดิม อันได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก และปัสสาวะคั่ง รวมทั้งยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมองได้น้อยกว่าจึงทำให้เกิดผลข้างเคียงง่วงซึมได้น้อยกว่าอีกด้วย
เนื่องจากมียาหลากหลายชนิดในแต่ละกลุ่มที่มีผลข้างเคียงและข้อจำกัดในการใช้แตกต่างกัน เช่น ยาบางชนิดไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคไต หรือโรคหัวใจ รวมทั้งอาจมีข้อห้ามในการรับประทานร่วมกับยาบางประเภท ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือซื้อยากินเอง ควรแจ้งข้อมูลโรคประจำตัว หรือยาที่ใช้อยู่ประจำ รวมทั้งประวัติการแพ้ยาทุกครั้ง เพื่อที่จะได้รับยาที่เหมาะสม กล่าวโดยสรุปคือ การเลือกใช้ยาลดน้ำมูกจะต้องพิจาณาถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล ประกอบกับประสิทธิภาพของยาและความปลอดภัยของผู้ป่วย มากกว่าพิจารณาจากความสะดวกในด้านผลข้างเคียงง่วงซึมหรือไม่ง่วงซึมนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1. Eccles R. Understanding the symptoms of the common cold and influenza. Lancet Infect Dis 2005; 5:718-25.
2. Woo T. Pharmacology of cough and cold medicines. J Pediatr Health Care 2008; 22:73-9.
3. Riechelmann H. Oral second generation antihistamines in allergic rhinitis. Laryngorhinootologie 2005; 84:30-41.
4. Church MK, Maurer M. Antihistamines. Chem Immunol Allergy. 2014; 100:302-10.
5. Mygind N. Allergic rhinitis. Chem Immunol Allergy 2014; 100:62-8.
6. Fashner J, Ericson K, Werner S. Treatment of the common cold in children and adults. Am Fam Physician 2012; 86:153-9.