หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ท้องเสีย ซ่อมได้ ไม่ยาก

โดย นศภ. ณฐกร ฉวีวรรณมาศ เผยแพร่ตั้งแต่ 26 กันยายน พ.ศ.2557 -- 819,917 views
 

อาการท้องเสียเป็นอย่างไร ?

ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง หมายถึง อาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง อาการเหล่านี้หากมีอาการไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะเรียกว่า ท้องเสียเฉียบพลัน แต่หากนานเกิด 2 สัปดาห์จะเรียกว่า ท้องเสียเรื้อรัง

สาเหตุ

อาการท้องเสียมักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด หรือมีเชื้อโรคเชื้อปน ทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ นอกจากนี้อาการท้องเสียยังสามารถเกิดได้จากการรับประทานอาหารรสจัด หรือเกิดจากยาและโรคบางชนิดได้

ท้องเสียมีกี่แบบ

อาการท้องเสียสามารถแบ่งตามลักษณะของอุจจาระได้ 2 แบบ คือ

  1. อาการท้องเสียที่ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้องหรือปวดเบ่งที่ทวารหนัก ถ่ายบ่อย และมีปริมาณอุจจาระที่ออกในแต่ละครั้งไม่มากนัก
  2. อาการท้องเสียที่ถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ สีเหลืองหรือเขียวอ่อน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเป็นน้ำขุ่นขาวคล้ายน้ำซาวข้าว

อาการแบบไหนจึงต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ

การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย มักจะพิจารณาให้การรักษาเฉพาะในผู้มีอาการท้องเสียที่ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือผู้มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือน้ำซาวข้าวที่มีอาการแสดงของการขาดน้ำ เช่น อาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง กระหายน้ำ ปากคอแห้ง หน้ามืด เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียแบบถ่ายเหลวไม่มีเลือดปน และไม่มีอาการขาดน้ำ ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ

ถ้าหากไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อ จะรักษาอย่างไร

สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียแบบถ่ายเหลว และไม่มีอาการขาดน้ำ ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่อาการจะเป็นอยู่ไม่กี่วันและหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ จึงแนะนำให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ (Oral rehydration salts, ORS) เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปจากการท้องเสีย ซึ่งวิธีการรับประทานเกลือแร่ที่ถูกต้องคือ ควรให้ผู้ป่วยจิบรับประทานสารละลาย ORS ในปริมาณน้อยๆ ไปเรื่อยๆ แต่จิบบ่อยๆ และควรเตรียมสารละลาย ORS ใช้ใหม่หากเตรียมแล้วใช้ไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมง

หากผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อ ORS ได้ สามารถเตรียมเองได้โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกง ครึ่งช้อนชาลงในน้ำที่ต้มเดือดที่เย็นแล้ว และลายให้เข้ากัน

ยาหยุดถ่ายจำเป็นหรือไม่

ยาหยุดถ่ายที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ loperamide แม้จะมีข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลันที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้เนื่องจากทำให้การกำจัดออกของเชื้อโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียช้าลง จึงไม่แนะนำให้ซื้อยาหยุดถ่ายมารับประทานเอง หากจำเป็นต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ควรต้องไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการต่อไปนี้

อุจจาระมีมูกปน มีกลิ่นเหม็นผิดปกติคล้ายกุ้งเน่าคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อ่อนเพลียมาก หรือมีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้สูงอายุ ไม่ควรรักษาเอง เพราะถ้าอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Health Organization. Diarrhea Treatment Guidelines. The MOST Project; 2005.
  2. World Gastroenterology Organization. Acute diarrhea in adults and children: a global perspective [Internet]. 2012 [Cited 2014 Aug 3]. Available from: http://www.worldgastroenterology.org.
  3. ดร.ปริญญา อรุโณทยานันท์. เกลือเพื่อชีวิต [Internet]. [Cited 2014 Aug 31]. Available from: https://www.gpo.or.th/rdi/html/ors.html.
  4. สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชุมชุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2546.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ท้องเสีย อุจจาระร่วง ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้