ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อ มีหลายชนิด หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะสามารถรักษาอาการติดเชื้อในแต่ละบริเวณของร่างกายได้แตกต่างกันไป เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงต้องเคยมีประสบการณ์การรับประทานยากลุ่มนี้กันมาบ้าง โรคหรืออาการที่มักจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นแผลที่ผิวหนังและมีการติดเชื้อร่วมด้วย ตากุ้งยิง เป็นสิว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจและไม่ทราบวิธีการรับประทานยาฆ่าเชื้อที่ถูกวิธีเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการรักษาสูงสุด และเกิดโทษน้อยที่สุด
การรับประทานยาฆ่าเชื้อให้ได้ผลดีนั้น สิ่งสำคัญคือควรรับประทานติดต่อกันให้ครบตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และต้องรับประทานตามคำแนะนำของยาแต่ละชนิดที่ได้มา เช่น รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร ห้ามรับประทานร่วมกับอาหารบางประเภท เป็นต้น มีหลายคนที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ รับประทานไม่ติดต่อกัน และเมื่ออาการที่เป็นดีขึ้น จะหยุดรับประทานยาไปเอง ไม่รับประทานให้หมดจำนวนที่ได้รับมาจากร้านยาหรือโรงพยาบาล ซึ่งการทำแบบนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล และเสี่ยงต่อการที่อาการติดเชื้อเหล่านั้นจะกลับมาเป็นใหม่ได้สูง เนื่องจากเมื่อรับประทานยาฆ่าเชื้อไปจำนวนหนึ่งทำให้เชื้อลดจำนวนลงและส่งผลให้อาการต่างๆ เริ่มดีขึ้น แล้วผู้ป่วยหยุดรับประทานยาฆ่าเชื้อไปก่อนครบกำหนดหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ปริมาณยาในร่างกายไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อให้เหลือน้อยจนโรคหรืออาการติดเชื้อต่างๆ หายขาด เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอีกแล้วเกิดการเป็นซ้ำ หรืออาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การดื้อยา” ได้
โดยปกติเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อธรรมดาที่ไม่ดื้อยา แต่จะมีเชื้อแบคทีเรียจำนวนหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมส่งผลให้เชื้อเกิดการดื้อยาขึ้น ซึ่งการเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นมักมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเชื้อที่ไม่ดื้อยา แต่เมื่อเชื้อเกิดการดื้อยาขึ้นแล้วจะทำให้ยาฆ่าเชื้อชนิดเดิมไม่สามารถทำลายเชื้อเหล่านี้ได้ จึงกำจัดได้เพียงเชื้อที่ยังไม่ดื้อยาให้ลดจำนวนลงแล้วเหลือเพียงแต่เชื้อดื้อยาอยู่ ซึ่งเชื้อดื้อยาเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนและทำให้อาการของโรคกลับมาเป็นซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นเชื้อที่ดื้อยาจะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดื้อยาให้แก่เชื้อตัวอื่นได้อย่างรวดเร็วทำให้เชื้อดื้อยามีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้แล้วการได้รับยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้เชื้อที่ไม่ดื้อยาสามารถพัฒนาตนเองให้กลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาได้เช่นกัน และเมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นแล้วจะทำให้ยาชนิดเดิมหรือขนาดเดิมไม่สามารถที่จะใช้รักษาได้ อาจต้องเพิ่มขนาดยาหรือระยะเวลาในการรักษาหรือแม้กระทั่งต้องเปลี่ยนชนิดของยาฆ่าเชื้อเป็นยาฆ่าเชื้อกลุ่มอื่นแทน ซึ่งอาจเป็นยากลุ่มที่ควรจะเก็บไว้ใช้สำหรับการติดเชื้อที่รุนแรง ทำให้ในอนาคตหากเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงจะทำให้โอกาสที่เชื้อจะดื้อยาตัวใหม่ก็เพิ่มขึ้นและยังทำให้เหลือจำนวนตัวเลือกยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยลง นอกจากนี้การได้รับยาฆ่าเชื้อในอาการหรือโรคที่ไม่ได้มีการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นก็ถือเป็นการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้อยาได้เช่นกัน
ดังนั้นหากเกิดอาการเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจึงควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยา เพื่อให้ช่วยประเมินอาการและความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าเชื้อ หากอาการหรือโรคที่เป็นมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อจริง แพทย์หรือเภสัชกรจะสามารถเลือกชนิดของยาฆ่าเชื้อให้ตรงกับโรคและบริเวณที่ติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการซักประวัติที่เกี่ยวกับการแพ้ยาและเลือกชนิดของยาฆ่าเชื้อที่จะไม่ทำให้เกิดการแพ้ซ้ำได้ ไม่ควรหายามารับประทานเองหรือรับประทานยาฆ่าเชื้อของผู้ป่วยรายอื่น เพราะชนิดของยาที่เหมาะสมในการรักษาอาจไม่เหมือนกัน นอกจากอาจจะไม่หายจากอาการที่เป็น อาจเป็นมากขึ้นหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาที่หามารับประทานเอง เช่น ยาตีกับยาอื่นที่ใช้อยู่เป็นประจำ หรือเกิดการแพ้ยาได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง