หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร แล้วจำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ?

โดย นศภ. ชนัญญา สุขโสภณ เผยแพร่ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2557 -- 281,687 views
 

“ปวดหัว ตัวร้อน มีไข้สูงขณะตั้งครรภ์ มียาแก้อักเสบอยู่ที่บ้านรับประทานได้ไหมค่ะ?” “ ต้องให้นมลูก แต่ไม่สบายมากทำยังไงดีค่ะ”คำถามเหล่านี้แสดงให้เห็นโดยทั่วกันว่า มารดาเมื่อตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่นั้นให้ความสำคัญและมีความระมัดระวังต่อการใช้ยาค่อนข้างมาก เนื่องจากยาจำนวนไม่น้อยสามารถผ่านสายรก หรือละลายน้ำแล้วขับออกทางน้ำนม ซึ่งอาจส่งผลผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือต่อทารกที่ดื่มนมแม่อยู่ได้ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ยาทุกตัวที่สามารถผ่านสายรก หรือขับออกทางน้ำนมและส่งผลต่อทารก ดังนั้น การเลือกใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจึงมีความซับซ้อน ยาที่ร้านยามักจ่ายเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายและค่อนข้างมีปัญหาในการเลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่พบได้บ่อยคือ“ยาปฏิชีวนะ”

ยาปฏิชีวนะ หรือที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันว่า “ยาฆ่าเชื้อ”หรือ “ยาแก้อักเสบ” เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียจากภาวะติดเชื้อของร่างกาย ยาปฏิชีวนะที่เป็นยารับประทานมีอยู่หลายกลุ่ม ดังตารางต่อไปนี้

ยาปฏิชีวนะ

ตั้งครรภ์

ให้นมบุตร

กลุ่ม Penicillinได้แก่ Penicillin V, Ampicillin, Becampicillin, Amoxicillin, Amoxicillin/clavulanate potassium, Cloxacillin, Dicloxacillin

ผ่านสายรกได้ แต่ไม่พบว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ หญิงตั้งครรภ์ในทุกระยะการตั้งครรภ์สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้

ขับออกทางน้ำนมปริมาณน้อยและยังไม่พบผลเสียต่อทารก

กลุ่ม Cephalosporinได้แก่

Cephalexin, Cefadroxil, Cefaclor, Cefuroxime axetil, Cefpodoxime proxetil, Cefdinir, Cefixime

ผ่านสายรกได้ ไม่พบว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ และไม่พบข้อมูลการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดทารกวิรูป หญิงตั้งครรภ์ในทุกระยะการตั้งครรภ์สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้

ขับออกทางน้ำนมปริมาณน้อย และยังไม่พบผลเสียต่อทารก ยกเว้นยา Cefdinir, Cefixime ไม่พบข้อมูลความปลอดภัย โปรดระวังการใช้

กลุ่ม Macrolideได้แก่ Erythromycin, Roxithromycin, Spiramycin, Midecamycin, Clarithromycin, Azithromycin

Erythromycin และ Azithromycin พบว่ามีความปลอดภัยเนื่องจาก ผ่าน รกได้น้อย ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง ไม่มีรายงานการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดทารก-วิรูป ส่วนยาที่เหลือในกลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกได้

พบยาสะสมในน้ำนม มีข้อมูลความปลอดภัยในมนุษย์จำกัด โปรดใช้ด้วยความระวัง ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรเลือกใช้ Erythromycin และAzithromycin เท่านั้น

กลุ่ม Fluoroquinololeได้แก่ Norfloxacin ,Ofloxacin, Ciprofloxacin, Levofloxacin, Moxifloxacin

ผ่านสายรกได้เนื่องจากยามีโมเลกุลขนาดเล็ก พบความผิดปกติจากการศึกษาในตัวอ่อน และในหญิงตั้งครรภ์ได้บ้าง ไม่แนะนำให้ใช้โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์(เดือนที่ 1-3)

มีขนาดโมเลกุลเล็กจึงอาจผ่านน้ำนมได้ และยาอาจส่งผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย และเกิดพิษได้ในทารก ไม่แนะนำให้ใช้

กลุ่ม Tetracycline ได้แก่ Tetracycline, Doxycycline, Minocycline

ผ่านสายรกได้ หากใช้ในไตรมาสที่ 2-3 (เดือนที่ 4-9) ยาจะสะสมในฟันและกระดูกของทารก ทำให้ฟันของเด็กมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลไปตลอดชีวิต มีกระดูกและสมองเจริญผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดทารกวิรูป ไม่แนะนำให้ใช้

อาจใช้ได้ในหญิงให้นมบุตรเนื่องจากยาขับออกผ่านทางน้ำนมน้อยมาก โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง

กลุ่ม อื่นๆ

Choramphenicol

ผ่านสายรกได้ การใช้ในหญิงตั้งครรภ์พบว่าทารกอาจมีอาการตัวเขียว อ่อนปวกเปียก จากภาวะเกรย์ซินโดรม ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

ยาขับออกทางน้ำนมได้ ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงให้นมบุตร

Polymyxin B

มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลองและในมนุษย์จำกัด จึงไม่แนะนำให้ใช้ อย่างไรก็ตามหากใช้เป็นยาใช้ภายนอกอาจสามารถใช้ได้

ยังไม่พบรายงานการใช้ยานี้กับหญิงให้นมบุตร

Colistin

พบความผิดปกติจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวอ่อนในมนุษย์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้

มีข้อมูลความปลอดภัย ในมนุษย์จำกัด ไม่แนะนำให้ใช้

Clindamycin

ผ่านสายรกได้ แต่ไม่พบความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ในจำนวนที่มากพอจะสรุปได้ว่าเกิดจากยา

ขับออกทางน้ำนม และยังไม่พบผลเสียต่อทารก โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง

Co-trimoxazole

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 (เดือนที่ 7-9) ยาสามารถผ่านรกทำให้ทารกเกิดมาตัวเหลือง (kerniterus)

ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงให้นมบุตร

Metronidazole

ผ่านสายรกได้ แต่ไม่พบความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในไตรมาสแรก(เดือนที่ 1-3)ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากยาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารก

ขับออกทางน้ำนม โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งหากใช้ยาแบบทานครั้งเดียว หลังทานยาแนะนำให้หยุดให้นมบุตรประมาณ 12-24 ชั่วโมง

โดยสรุปแล้วยากลุ่ม Penicillinและ Cephalosporin ค่อนข้างมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ถ้ามีประวัติแพ้ยากลุ่มดังกล่าว ควรเปลี่ยนเป็นยากลุ่ม Clindamycin หรือ Macrolide เช่น Erythromycin และ Azithromycin ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยในการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง

  1. Alexander JF, Caruther RL, Cash J, Al-jazairi A, Alqadheeb A, Cavallari LH, et al. Drug information handbook international. 22nd ed. Ohio: lexi-comp; 2013.
  2. Brigg GG, Freeman RK, Yaffe SJ. Drug in Pregnancy and Lactation. 9th ed. Philadelphia: Lippincott williams & wilkins; 2011.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้