หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รบกวนถามคะ เรืองการใช้ Reparil gel รักษาเส้นเลือดขอดจะได้ผลจริงไหมคะ เพราะดูจากฉลากยาข้างกล่องเขียนว่ารักษาเส้นเลือดขอดได้ หรือพอมียาตัวอื่นช่วยได้ไหมคะ

ถามโดย นงลักษณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 19/03/2010-14:56:10 -- 42,429 views
 

คำตอบ

Reparil gel® มีส่วนประกอบสำคัญ คือ diethylamine salicylate และ aescin ซึ่ง diethylamine salicylate เป็นอนุพันธุ์ของยาในกลุ่ม salicylic acid มีฤทธิ์ลดอาการปวดและอักเสบ เช่นเดียวกับ methylsalicylate ที่เป็นส่วนประกอบในครีมทาแก้ปวดเมื่อยหลายยี่ห้อ Aescin เป็นสารสกัดจากพืชที่มีชื่อว่า Horse Chest Nut โดยรายงานเกี่ยวกับฤทธิ์ของ aescin นั้นมีหลายอย่าง เช่น ลดอาการอักเสบ ลดอาการบวม ลดการซึมผ่านของน้ำจากในหลอดเลือดไปสู่เนื้อเยื่อ เพิ่มความต้านทานของหลอดเลือด capillary กำจัดอนุมูลอิสระ รวมถึงยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี aescin มักถูกใช้ในการรักษาอาการผิดปกติของหลอดเลือดดำ เช่น เส้นเลือดขอด หรือ ริดสีดวงทวารหนัก เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อมูลด้านประสิทธิภาพของ aescin พบว่า มีการรายงานถึงอาการของโรคที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ aescin อยู่ด้วย ข้อแนะนำในการใช้ Reparil gel ที่ระบุไว้ในข้อมูลผลิตภัณฑ์ คือ ทาบางๆ บริเวณที่ต้องการวันละ 2 ครั้งหรือมากกว่า และห้ามทายาในบริเวณที่เป็นแผลเปิด เยื่อบุเมือก หรือผิวหนังที่มีการสัมผัสกับการทำ radiotherapy นอกจากนี้ไม่ควรใช้ Reparil gel ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบใดๆใน Reparil gel เส้นเลือดขอด (varicose veins) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลิ้น (valve) ของหลอดเลือดดำ (โดยมากมักพบบริเวณขา) ลิ้นดังกล่าวทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการไหลย้อนกลับ (reflux) ของเลือดและทำให้เลือดสามารถไหลกลับขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกายได้ เมื่อลิ้นดังกล่าวทำงานไม่ปกติจะทำให้มีเลือดส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับมาสู่หลอดเลือดดำย่อยและเกิดการคั่งอยู่ที่บริเวณนั้น ซึ่งในช่วงแรกๆ แรงต้านทานของหลอดเลือดดำย่อยยังสามารถช่วยไม่ให้เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดได้อยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถในการต้านทานของหลอดเลือดดำจะลดลง (ตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เช่น น้ำหนักตัว) ทำให้เกิดการโป่งพองและมองเห็นเป็นเส้นเลือดขอดได้ในที่สุด อาการโดยทั่วไปของเส้นเลือดขอดมักเกิดหลังจากการยืนหรือเดินนานๆ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการขาบวม (leg swelling) ให้เห็นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นมากๆ การรักษาโดยทั่วไปมักทำโดยการยกเท้าสูง (legs elevation) การสวมถุงน่องหรือเครื่องมือช่วยรัดที่เพิ่มความดันของหลอดเลือดดำ การลดน้ำหนัก รวมถึงการรับประทานยาหรือการทายาเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือด (ป้องกันการโป่งพองของหลอดเลือด) โดยยาที่พบว่ามีการนำมาใช้บ่อยๆ ได้แก่ aescin และสารในกลุ่ม bioflavonoids ต่างๆ ข้อมูลการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประโยชน์จากวิธีการรักษาตามปกติเหล่านี้นั้นยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดีข้อมูลรายงานที่แสดงให้เห็นถึงอาการเส้นเลือดขอดที่ดีขึ้นก็ยังมีอยู่ นอกจากการรักษาตามปกติแล้ว การผ่าตัดถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการผ่าตัดโดยใช้ความร้อน (thermal ablation) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาเส้นเลือดขอด ความจำเป็นในการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอดนั้นถือว่ามีไม่มากนักในคนทั่วไป ยกเว้น ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิด deep vein thrombosis (DVT) เป็นต้น

Reference:
1. Enzler MA, van den Bos RR. A New Gold Standard for Varicose Vein Treatment?. Eur J Vasc Endovasc Surg 2010;39: 97-8.
2. Bhayani R, Lippitz J. Varicose Veins. Dis Mon 2009;55:212-22.
3. JONES RH, Carek PJ. Management of Varicose Veins. Am Fam Physician. 2008;78(11):1289-94.
4. Reparil Gel® [Online]. [cited 2010 Mar 23]. Available from: URL: http://www.mims.com/Page.aspx?menuid=mng&name=Reparil+gel&CTRY=TH&brief=false#Precautions.
5. Horse chestnut seed extract: Natural drug information. In: UpToDate. [Online] . Available from: UpToDate, Inc; 2010. [cited 2010 Mar 23].

Keywords:
-





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้