หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

fentanyl injection สามารถนำมาใช้เป็นแบบรับประทานได้ไหม หากสามารถทำได้จะมีข้อบ่งใช้ในกรณีใดบ้าง รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้แบบรับประทาน

ถามโดย สน เผยแพร่ตั้งแต่ 27/06/2023-15:46:29 -- 1,643 views
 

คำตอบ

ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับการใช้ fentanyl ชนิดยาฉีดเพื่อนำมารับประทานโดยตรง แม้ว่าจากคุณสมบัติทางเภสัชจลศาสตร์แล้ว fentanyl จะสามารถถูกดูดซึมได้ แต่การใช้รูปแบบรับประทานโดยตรง ผ่านการกลืนอย่างรวดเร็วนั้น มีปริมาณยาที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดค่อนข้างน้อย (bioavailability 30%) เนื่องจากมี first pass metabolism ผ่าน CYP450 รวมทั้งยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับขนาด วิธีการเตรียมยา รวมทั้งระยะวลาการออกฤทธิ์ และประสิทธิภาพของยาอย่างชัดเจน ทำให้การใช้ยาในรูปแบบนี้อาจไม่ได้ประโยชน์จากยาเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามอาจสามารถพิจารณารูปแบบอมใต้ลิ้นได้ เนื่องจากสามารถถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุช่องปากได้ โดยมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดค่อนข้างมากและรวดเร็ว (bioavailability 50-90%) เหมาะสำหรับการรักษาอาการปวดฉับพลัน โดยมีการศึกษาพบว่า fentanyl สารละลายสำหรับอมใต้ลิ้นมีประสิทธิภาพในการลดการปวดฉับพลัน (breakthrough pain) โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งทางนรีเวช (gynecological cancer) พบว่าการนำสารละลาย fentanyl ชนิดฉีดทางหลอดเลือดดำขนาด 50 ไมโครกรัมมาเจือจางด้วยน้ำเปล่าปริมาตร 1 มิลลิลิตร โดยอมไว้นาน 2 นาทีก่อนกลืนยา มีอาการปวดลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ morphine ชนิดไซรัปขนาด 5 มิลลิกรัม อย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 5 และ 15 นาทีหลังรับประทานยา แต่เมื่อเวลาผ่านไป 45, 60 และ 120 นาที พบว่าประสิทธิภาพของการลดปวดจาก fentanyl น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ morphine อย่างมีนัยสำคัญ โดยอาการไม่พึงประสงค์เฉียบพลันในกลุ่มที่ได้รับยา fentanyl คือ อาการแสบร้อนในช่องปาก ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ก่อให้เกิดแผล และหายไปทันทีเมื่อกลืนยา ดังนั้นการดัดแปลงรูปแบบยา fentanyl จากยาชนิดฉีดทางหลอดเลือดดำมาเป็นยาชนิดอมใต้ลิ้นนั้นอาจทำได้และมีประโยชน์สำหรับกรณีที่ต้องบรรเทาอาการปวดอย่างรวดเร็ว (5-15 นาที) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดัดแปลงยานี้เป็นการใช้ยานอกเหนือจากที่ระบุในเอกสารกำกับยา (off-label use) ดังนั้นการใช้ยาลักษณะนี้จึงควรอยู่ภายใต้การตัดสินใจและการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และควรทำในสถานการณ์ที่ไม่สามารถบริหารยาทางหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection) ได้ หรือไม่มียาทางเลือกอื่นที่ตอบเป้าหมายการลดปวดที่ต้องการได้แล้วและผู้ป่วยควรมีความสามารถที่จะอมสารละลายยาไว้ใต้ลิ้นได้นานประมาณ 2 นาที รวมถึงไม่ควรดัดแปลงรูปแบบยาเพื่อให้ผู้ป่วยนำกลับไปใช้ที่บ้านเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการใช้ที่ไม่ถูกต้องหรือใช้ในทางที่ผิดได้ อีกทั้งการดัดแปลงรูปแบบยาในลักษณะนี้มีการรายงานเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งทางนรีเวชเท่านั้น แต่กรณีที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มอื่น โดยเฉพาะมะเร็งตับหรือมีภาวะตับแข็งรุนแรง เภสัชจลนศาสตร์ของยา fentanyl อาจแตกต่างไปจากเดิมจึงควรต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

Reference:
1. Thantiprechapong T, Tilagul T, Vasikasin V. (2023). Efficacy of reconstituted intravenous fentanyl to sublingual solution versus oral morphine syrup for breakthrough pain among patients with chronic gynecologic cancer pain: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. The journal of obstetrics and gynaecology research, 49(7), 1815–1820.
2. Fentanyl drug information. Lexicomp Online [internet]. 2023. [cited 2023 Jul 7]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/fentanyl-drug-information?search=fentanyl&source=panel_search_result&selectedTitle=1~148&usage_type=panel&kp_tab=drug_general&display_rank=1

Keywords:
fentanyl, รับประทาน





ระบบประสาท

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้