หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สารกระท่อม และ กัญชา เมื่อเราเสพเป็นอาจิณ สารจะอยู่ในร่างกายได้นาน 2-3 เดือน อยากทราบว่า หลังจากเลิกเสพเป็นเวลา 3 เดือน สารดังกล่าวจะยังคงอยู่ในร่างกายหรือไม่

ถามโดย เนตรนุช สุนทรนิติธรรม เผยแพร่ตั้งแต่ 26/10/2022-14:19:39 -- 38,284 views
 

คำตอบ

กระท่อมมีสารสำคัญที่พบมากที่สุด คือ mitragynine ซึ่งเป็นสารหลักในการออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวด[1] ในผู้ที่ใช้กระท่อมเป็นประจำพบว่าสาร mitragynine มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 1 วัน[2] โดยปกติแล้วยาหรือสารใด ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกกำจัดออกจากร่างกายในระยะเวลา 4-5 ค่าครึ่งชีวิต[3] ดังนั้นสาร mitragynine จึงจะถูกขับออกจากร่างกายภายใน 4-5 วัน นอกจากนี้มีการศึกษาว่าในผู้ที่ได้รับกระท่อมเกินขนาดจะสามารถตรวจพบสาร mitragynine ในปัสสาวะ 14 วันหลังจากการได้รับกระท่อมครั้งสุดท้าย[4] ดังนั้นที่ระยะเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับกระท่อมครั้งสุดท้ายจึงมีโอกาสตรวจพบสาร mitragynine ได้น้อย ส่วนกัญชามีสารสำคัญ คือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) และ cannabidiol (CBD)[5] โดยหลังจากที่ได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกายแล้ว สาร THC จะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า 11-Nor-9-carboxy-9-tetrahydrocannabinol (THCCOOH) ซึ่งในผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำจะสามารถตรวจพบสาร THCCOOH ได้ในเลือดหลังจากผ่านไปแล้ว 30 วัน[6] และมีการรายงานว่าระยะเวลาที่มากที่สุดที่สามารถตรวจพบสาร THCCOOH ในปัสสาวะ คือ 95 วัน หลังจากได้รับกัญชาครั้งสุดท้าย[7] ดังนั้นที่ระยะเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับกัญชาครั้งสุดท้ายจึงมีโอกาสตรวจพบสาร THCCOOH ในปัสสาวะได้

Reference:
1. สมนึก บุญสุภา. กระท่อม .. พืชที่ทุกคนอยากรู้. [อินเตอร์เน็ต]. 2559. [เข้าถึงเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงจาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/354/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1/
2. Trakulsrichai S, Sathirakul K, Auparakkitanon S, Krongvorakul J, Sueajai J, Noumjad N, Sukasem C, Wananukul W. Pharmacokinetics of mitragynine in man. Drug Des Devel Ther. 2015;9:2421-9.
3. Hallare J, Gerriets V. Half Life. [Updated 2022 Jun 23]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022. [cited 7 November 2022]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554498/
4. Kapp FG, Maurer HH, Auwärter V, Winkelmann M, Hermanns-Clausen M. Intrahepatic cholestasis following abuse of powdered kratom (Mitragyna speciosa). J Med Toxicol. 2011;7(3):227-31.
5. Atakan Z. Cannabis, a complex plant: different compounds and different effects on individuals. Ther Adv Psychopharmacol. 2012;2(6):241-54.
6. Bergamaschi MM, Karschner EL, Goodwin RS, Scheidweiler KB, Hirvonen J, Queiroz RH, Huestis MA. Impact of prolonged cannabinoid excretion in chronic daily cannabis smokers’ blood on per se drugged driving laws. Clin Chem. 2013;59(3):519-26.
7. Verstraete AG. Detection times of drugs of abuse in blood, urine, and oral fluid. Ther Drug Monit. 2004;26(2):200-5.

Keywords:
กระท่อม, กัญชา





ระบบประสาท

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้