หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ลูกสาวอายุ 3 ปี คุณหมอสั่งจ่ายยา MEIACT TABLETS 100 CEFDITOREN PIVOXIL 100mg ตัวนี้มาให้ 1 แผง 10 เม็ด ให้ทานครั้งละ 1 เม็ด 2เวลา เช้า-เย็น หลังอาหารค่ะ พอทานยาได้ เม้ดแรกช้วงเช้า พอตกบ่ายๆ ลูกสาวก็มีอาการคล้ายลมพิษ แดงเต็มตัวแขน-ขาและหน้า มีอารการคันร่วมด้วยค่ะ และที่สำคัญมือ-เท้า-ปาก บวมด้วยค่ะ อันนี้คืออาการลมพิษธรรมดา หรือน้องแพ้ยาค่ะ รบกวนช่วยตอบที่นะค่ะ ขอพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ ปล.แล้วมีวิธีรักษาอย่างไรค่ะ น้องมีไข้ต่ำๆด้วยค่ะ

ถามโดย สุธนี เผยแพร่ตั้งแต่ 22/03/2014-12:20:44 -- 5,985 views
 

คำตอบ

ในกรณีดังกล่าวแนะนำให้ผู้ถามนำบุตรและยาที่ได้รับทั้งหมดกลับไปยังโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้รับยาดังกล่าว เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะแพ้ยา แต่การประเมินแพ้ยาจำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาอาการ ลักษณะผื่น และซักประวัติโดยละเอียดเพื่อแยกระหว่างการแพ้ยากับสาเหตุอื่นๆ อีกทั้งหากแพ้ยาจริงทางโรงพยาบาลก็สามารถออกบัตรแพ้ยาให้ผู้ป่วยได้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพ้ยาตัวเดิมซ้ำและเตือนให้ระวังการใช้ยาอื่นที่มีโอกาสแพ้ข้ามกลุ่มกับยาตัวที่แพ้จริง ซึ่งการแพ้ยาซ้ำเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยทั่วไปหากแพ้ยาจริง ก็มักจะแก้โดยการหยุดยาที่เป็นสาเหตุ หรืออาจเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่น และให้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการแพ้ แต่ในการแพ้ยาบางแบบก็จำเป็นต้องรักษาอาการแพ้ยาตามอาการ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ไม่แนะนำให้แก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำผู้ป่วยกลับไปยังสถานพยาบาลที่ได้รับยา ยา Meiact ® ซึ่งเป็นชื่อการค้าของยา cefditoren pivoxil มีรายงานทำให้เกิดอาการแพ้ยาลักษณะที่เป็นผื่นลมพิษ (urticaria) ได้ประมาณน้อยกว่า 1 % ผู้ที่แพ้ยาแบบผื่นลมพิษ เริ่มแรกผื่นมักจะมีรอยนูนแดงขนาดเล็ก คันมาก และผื่นจะค่อยๆ ขยายออก มีขอบยกนูน บางครั้งไม่ปรากฏรูปร่างชัดเจน และกระจายไปได้ทั่วร่างกาย ผื่นอาจเกิดได้หลังจากได้รับยาครั้งแรก หรืออาจเกิดได้ทั้งที่เคยใช้ยาดังกล่าวได้ปกติแต่กลับเพิ่งมาแพ้ในภายหลัง ผื่นลมพิษจะเกิดค่อนข้างเร็วกว่าผื่นแพ้ยาอื่น โดยมักเกิดภายใน 36 ชั่วโมงหลังได้รับยา และหากได้รับยาที่แพ้ซ้ำอีกอาการแพ้ก็จะเกิดเร็วมากภายในเวลาเป็นนาที นอกจากนี้ยังมีลักษณะแพ้ยาที่เรียกว่า “angioedema” ซึ่งเป็นการแพ้ที่เกิดผื่นลมพิษในชั้นผิวหนังส่วนลึก ทำเกิดการบวมตามเยื่อบุอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เปลือกตาบวม ริมฝีบวม ลิ้นบวม ผื่นลมพิษมักไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมากนัก นอกจากอาการคัน แต่หากผู้ป่วยเกิดผื่นลมพิษขึ้นเฉียบพลันทั่วร่างกาย และมีอาการของอวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น หลอดลมตีบ หายใจหอบเหนื่อย ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ก็อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ซึ่งอาการแพ้ยารุนแรงนี้เรียกว่า anaphylactic shock และมีรายงานว่า cefditoren สามารถทำให้เกิดการแพ้ยาแบบ anaphylactic shock เช่นกัน Key words: Cefditoren, drug allergy, urticaria, angioedema

Reference:
1. Litt JZ. Litt’s D.E.R.M Drug Eruptions and Reactions Manual, 16th ed. New York: Informa healthcare; 2010.
2. Lee A, Thomson J. Drug-induced skin reactions. Adverse Drug Reactions, 2nd edition. Available from: http://www.pharmpress.com/files/docs/adre2ch05.pdf
3. Solensky R, Khan DA. Drug allergy: an updated practice parameter. Ann Allergy Asthma Immunol 2010; 105:273 e1-73.

Keywords:
-





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้