หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

[ขอความกรุณาตอบกลับทางอีเมล์ค่ะ] ขออนุญาตรบกวนสอบถามค่ะ พอดีทานยาคุมเมอซิลอน28 โดยทานไม่ตรงเวลาบ้างตรงบ้าง แต่ไม่เคยลืมทาน เริ่มแผงแรกเดือนสิงหาปี2013 มีประจำเดือนมาปรกติทุกเดือน ไม่เคยมีปัญหาข้างเคียงนอกจากอารมณ์แปรปรวนรุนแรงกว่าปรกติค่ะ ล่าสุดมีปัญหาในแผงปัจจุบัน(เริ่มเม็ดแรกวันที่18ธ.ค.) คือมีเลือดออกลักษณะเหมือนประจำเดือนปรกติ ในเม็ดที่15(วันที่1ม.ค.)ทั้งๆที่ปรกติจะมีประจำเดือนในช่วงของเม็ดที่28/29 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆของเม็ดแป้งค่ะ ตอนนี้ยังคงทานยาต่อไปเรื่อยๆ และคาดว่าประจำเดือนจะหมดก่อนถึงเม็ดแป้งค่ะ *หมายเหตุ* ~ประจำเดือนรอบที่แล้ว มีวันที่12-16ธ.ค. ~มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใส่ถุงยางวันที่22,24,25ธ.ค.(ใน3วันนี้ ดื่มแอลกอฮอลหลังจากรับประทานยาทุกวัน) มีคำถามค่ะ 1.ควรทานยาต่อไปให้หมดแผงแล้วต่อแผงใหม่ตามปรกติหรืออย่างไร 2.หากทานต่อไปตามปรกติ ช่วงที่ทานเม็ดแป้งทั้ง7เม็ด แปลว่าจะไม่มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิดใช่หรือไม่คะ 3.เลือดที่ออกมาลักษณะคล้ายประจำเดือน(คือมามากเกินกว่าจะเรียกว่ากระปริบกระปรอย) ก็คือประจำเดือน หรือเป็นจากสาเหตุอื่นคะ? 4.ประจำเดือนครั้งหน้าจะมาอีกทีช่วงไหนคะ จะกละบมาเป็นปรกติหรือกลายเป็นมีประจำเดือนช่วงกลางแผงยาไปเรื่อยๆ 5.มีอันตรายร้ายแรงหรือเป็นสัญญาณเบื้องต้นของเนื้องอกหรือมะเร็งรึเปล่าคะ 6.แอลกอฮอลมีผลกับยาหรือไม่คะ? ต้องเลิกดื่มตลอดระยะที่ใช้ยาคุมหรือไม่คะ? ขอบคุณมากๆค่ะ

ถามโดย ก.บ. เผยแพร่ตั้งแต่ 04/01/2014-10:24:47 -- 76,680 views
 

คำตอบ

1. แนะนำให้รับประทานยาแผงเก่าต่อจนหมดแผงตามปกติ 2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด ช่วง 21 เม็ดแรกเป็นช่วงที่มีฮอร์โมน และ 7 เม็ดหลังเป็นเม็ดแป้ง การรับประทานยาในช่วงแรกที่มีฮอร์โมน 2 ชนิดคือเอสโตรเจน และโปรเจสติน ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้มีบทบาทหลายอย่างในการออกฤทธิ์คุมกำเนิด การออกฤทธิ์ที่สำคัญของเอสโตรเจนคือกดการเจริญของไข่ (ถุงไข่) ภายในรังไข่ แต่ถึงแม้บางเดือนจะมีการเจริญของไข่ได้ แต่ก็ไม่สามารถเกิดการตกไข่ได้เนื่องจากโปรเจสตินออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ดังนั้นผลโดยรวมของยาคุมจึงไม่ทำให้เกิดการตกไข่ ซึ่งโดยปกติไข่ตกประมาณช่วงกึ่งกลางรอบประจำเดือน ดังนั้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์ อสุจิก็ไม่สามารถไปผสมกับไข่ได้จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ ตามธรรมชาติเมื่อไม่มีการผสมพันธุ์ผนังมดลูกที่เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน โดยช่วงที่มีประจำเดือนคือช่วงที่ระดับโปรเจสตินกับเอสโตรเจนลดต่ำลง ในกรณีที่ใช้ยาคุมเมื่อรับประทานเม็ดแป้งในช่วง 7 วันเป็นการทำให้ระดับโปรเจสตินกับเอสโตรเจนลดต่ำลงจึงเป็นช่วงที่ทำให้มีประจำเดือนออกมาเช่นกัน และการมีเพศสัมพันธ์ในระยะนี้ก็สามารถทำได้เพราะไม่ตรงกับช่วงไข่ตก จากนั้นเมื่อเริ่มรับประทานเม็ดที่มีตัวยา ยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการตกไข่รอบที่จะมาถึงต่อไปวนเป็นวงจรต่อเนื่อง ดังนั้นหากรับประทานยาถูกต้องตามข้อแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ยาจะออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างต่อเนื่อง จึงไม่ต้องกังวลช่วงเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ 3. เลือดดังกล่าวไม่น่าจะใช่ประจำเดือนแต่อาจเป็นลักษณะที่เรียกว่า breakthrough bleeding อันเนื่องมาจากมีความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนในเลือด ทำให้เกิดมีเลือดออกมามากกว่ากะปริบกะปรอยจนอาจจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย 4-5. ประจำเดือนช่วงหน้าคาดว่าจะมาตามปกติคือช่วงที่รับประทานเม็ดแป้ง จากข้อมูลพบว่าการเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างที่ยายังไม่หมดแผง สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะแรกที่รับประทานยา (ประมาณ 3 เดือนแรก) และอาจเกิดขึ้นได้แม้จะใช้ยาไปหลายเดือนแล้ว ซึ่งเลือดที่ออกในช่วงเดือนแรกจะเกิดได้มากกว่าประมาณ 10-30% ช่วงเดือนที่ 3 เกิดได้ประมาณ 10% และช่วงเดือนที่ 6 เกิดน้อยลงคือประมาณ 6-12% ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จาก ลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาไม่ตรงเวลา ปฏิกิริยาระหว่างยา และอาจเกิดจากรับประทานยาคุมที่มีระดับเอสโตรเจนหรือโปรเจสตินระดับน้อยเกินไป ในกรณีที่ยังมีเลือดออกผิดปกติต่อเนื่อง หรือพบอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์โดยละเอียด 6 ปฏิกิริยาระหว่างแอลกอฮอล์กับยาคุมกำเนิดมีข้อมูลไม่ชัดเจนนัก ซึ่งอาจมีคำเตือนในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักมาก แต่หากดื่มเพียงเล็กน้อยไม่ได้เป็นเป็นปฏิกิริยาคู่ที่เป็นปัญหา โดยมีรายงานว่ายาคุมมีผลให้แอลกอฮอล์ถูกกำจัดได้ช้าลง แต่อย่างไรก็ตามหากมีความกังวลเรื่องตั้งครรภ์มากแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยในระหว่างที่มีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Key words: alcohol, combine oral contraceptive, drug interaction

Reference:
1. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 2013. MMWR 2013; 62 (5):1-60.
2. จุราพร พงศ์เวชรักษ์. การจ่ายยาคุมกำเนิด (Dispensing oral contraceptives). ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
3. Graedon Enterprises, Inc. Drug & Alcohol Interactions 2002. available from http://www.healthcentral.com/static/pp/pdf_guides/alcohol-02.pdf

Keywords:
-





ระบบสืบพันธุ์ ฮอร์โมน

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้