หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณพ่อมีอาการข้อเข่าเสื่อมคะ ไม่ทราบว่า glucosamine sulphate มีผลต่อคนเป็นโรคตับไหมคะ แล้วถ้าทานติดต่อกันนานๆ จะมีผลกระทบอะไรบ้างคะ

ถามโดย ยู้ เผยแพร่ตั้งแต่ 02/11/2013-11:59:28 -- 8,296 views
 

คำตอบ

Glucosamine เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะข้อเสื่อม สาร glucosamine เป็นส่วนประกอบในโครงสร้างของกระดูกอ่อน โดยนำไปใช้สร้าง glycosaminoglycans และ proteoglycans การออกฤทธิ์ของ glucosamine จึงเป็นการเสริมสร้างกระดูกอ่อนและอาจมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างอื่นร่วมด้วย จึงเชื่อว่าสามารถลดอาการของโรคข้อเสื่อมได้ จากการสืบค้นข้อมูลพบกรณีรายงานการเกิดภาวะตับอักเสบซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับการใช้ยา glucosamine และในปี 2013 ได้มีการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามในผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจำนวน 151 ราย พบว่าในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจำนวน 23 รายเคยได้รับผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วย glucosamine หรือ chondroitin sulfate แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าภาวะตับอักเสบเกิดจากยาหรือมีความรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับยาหรือไม่ แต่มีผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจำนวน 2 รายที่มีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่าภาวะตับอักเสบมีความสัมพันธ์กับยา glucosamine โดยรายแรกเป็นผู้ที่มีภาวะตับอักเสบ C เรื้อรังอยู่ก่อน และได้รับยา glucosamine หลังได้รับยาพบว่าระดับเอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 5-7 เท่า ผลดังกล่าวไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาอย่างอื่น ไม่พบการติดเชื้อตับอักเสบชนิดอื่น และหลังจากหยุดยา glucosamine ระดับเอนไซม์ตับก็ลดกลับลงสู่ภาวะปกติ ส่วนอีกรายมีภาวะตับอักเสบ C เรื้อรังอยู่ก่อนเช่นกัน และหลังจากได้รับยา glucosamine เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบผื่นร่วมกับมีระดับเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นถึงแม้ว่า glucosamine จะมีรายงานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะตับอักเสบ แต่ก็เป็นเพียงกรณีรายงานที่เกิดกับผู้ป่วยเฉพาะราย (case report) เท่านั้น ถึงแม้จะยังไม่ห้ามใช้ยาดังกล่าวในผู้ป่วยโรคตับ แต่ก็อาจต้องระวังและคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย หากเกิดอาการเหล่านี้ควรต้องหยุดยาแล้วกลับไปพบแพทย์ ด้านอาการข้างเคียงที่อาจจำเป็นต้องระวังเมื่อมีการใช้ยา glucosamine เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากผลิตภัณฑ์พวก glucosamine มักมีการเติมเกลือเพื่อความคงตัว เช่นเกลือโซเดียมหากรับประทานยาติดต่อกันในระยะยาวอาจมีผลต่อผู้ป่วยบางกลุ่มได้ เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือโซเดียม อาจทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมได้ และอาจต้องระวังเรื่องของระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจาก glucosamine เป็นสารประกอบโปรตีนและน้ำตาล จึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ Key words: glucosamine, hepatotoxicity, hepatitis, side effect, กลูโคซามีน, ตับอักเสบ, อาการข้างเคียง

Reference:
1. Cerda C, Bruguera M, Pares A. Hepatotoxicity associated with glucosamine and chondroitin sulfate in patients with chronic liver disease. World J Gastroenterol 2013; 19(32): 5381-4.
2. Simon RR, Marks V, Leeds AR, et al. A comprehensive of oral glucosamine use and effects on glucose metabolism in normal and diabetic individuals. Diabetes Medtab Res Rev 2011; 27: 14-27.
3. MICROMEDEX 2.0® [Database on the internet]: Truven health analytics; 2013. mobileMicromedex® , Glucosamine ; [cited 2013 Nov 14]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com

Keywords:
-





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้