หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบว่าการทานยาคุมฉุกเฉินบ่อยๆจะมีผลอะไรหรือไม่ ควรทานห่างกันนานเท่าไหร่ ผลข้างเคียงที่พบได้จากการทาน

ถามโดย Aranya เผยแพร่ตั้งแต่ 11/07/2013-17:03:45 -- 11,989 views
 

คำตอบ

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย คือ ยา Levonorgestrel 750 ไมโครกรัม ซึ่ง 1 กล่องจะประกอบด้วยยา 2 เม็ด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวัตถุประสงค์ให้ใช้ในกรณีที่ฉุกเฉินเท่านั้น เช่น กรณีมีความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยินยอมหรือจากการถูกประทุษร้าย หรือการลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตามปกติ ดังนั้นจากวัตถุประสงค์ของการใช้ยา ไม่ได้แนะนำให้ใช้กรณีเพื่อคุมกำเนิดระยะยาว จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินบ่อยๆ และไม่แนะนำให้รับประทานยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินบ่อยๆ อาจมีผลรบกวนรอบเดือนปกติ ระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นในร่างกายจากการกินยาอาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ดังนั้นการใช้ยานี้จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น หากมีเพศสัมพันธ์และต้องการคุมกำเนิดในระยะยาวแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นดีกว่า เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติ การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝัง ถุงยางอนามัย วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยปกติแล้วยา 1 กล่องจะประกอบด้วยตัวยา 2 เม็ด แนะนำให้รับประทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดและไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน และรับประทานยาเม็ดที่ 2 หลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไม่เกิน 12 ชั่วโมง หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาแต่ละเม็ด ต้องรับประทานยาใหม่ การรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์แล้วตามด้วยยาเม็ดที่ 2 จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75% แต่หากเริ่มยาเม็ดแรกเร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 85% ดังนั้นจึงควรรับประทานยาเม็ดแรกหลังการมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำว่าสามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด พร้อมกันในครั้งเดียวได้ โดยที่ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ซึ่งในสหรัฐอเมริกานิยมรูปแบบการรับประทานในครั้งเดียว อาการข้างเคียงที่พบได้จากการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้แก่ ประจำเดือนรอบถัดไปอาจมาช้ากว่าปกติ(13%) ประจำเดือนรอบถัดไปมาเร็วกว่าปกติ (40%) คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เจ็บคัดเต้านม มีเลือดออกกะปริดกะปรอยหรือมีเลือดออกมากระหว่างเดือน Key words: emergency contraceptive pills, side effect, long term, ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน, อาการข้างเคียง

Reference:
1. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=54
2. จุราพร พงศ์เวชรักษ์. การจ่ายยาคุมกำเนิด (Dispensing oral contraceptives). ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Keywords:
-





ฮอร์โมน

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้