หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วิธีทานยา Dafron 500mgเพื่อรักษาริดสีดวงทวารแบบภายใน ควรกินยังไง ถ้าหายแล้วควรกินต่อรึเปล่า แล้วทานควบคู่ไปกับยาสมุนไพรไทยเพชรสังฆาตได้มั๊ยค่ะ ทานยาเหล่านี้นานๆ หลายเดือนอันตรายรึเปล่าค่ะ

ถามโดย น้ำหวาน เผยแพร่ตั้งแต่ 30/06/2013-10:13:50 -- 976,106 views
 

คำตอบ

Daflon เป็น micronized purified flavonoid fraction 500 mg ซึ่งประกอบด้วย diosmin 450 mg (สารกลุ่ม flavonoid) และ hesperidin 50 mg (สารกลุ่ม bioflavonoid) วิธีการรับประทานในระยะเฉียบพลัน (acute dosing) คือ รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 วัน หลังจากนั้นลดขนาดยาเป็น 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 วัน และในกรณีใช้เป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง (maintenance dosing) ให้ยา 1 เม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 เดือน (1) ซึ่งการให้ยาแบบ acute dosing หรือ maintenance dosing จำเป็นต้องพิจารณาตามประวัติและลักษณะรอยโรคและต้องอาศัยการซักประวัติและตรวจจากแพทย์ แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลโรคริดสีดวงทวารแบบภายใน มีการจัดแบ่งระดับความรุนแรงของโรคเป็น 4 ระดับ คือ ระยะที่ 1 ริดสีดวงไม่ยื่นออกมานอกขอบทวาร ระยะที่ 2 ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวารขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักหลังถ่ายอุจจาระ ระยะที่ 3 ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและหลังถ่ายอจจาระ ต้องดันกลับเขาไปในทวารหนัก และระยะที่ 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา ซึ่งแต่ละระยะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น กรณีระยะ 3-4 อาจจำเป็นต้องการการรักษาด้วยการผ่าตัด (operative treatment) หรือ office-based procedure ซึ่งได้แก่ การใช้ยางรัด (banding) การฉีดยา (sclerotherapy) และการจี้ริดสีดวงด้วยอินฟาเรด (infrared coagulation) หรือผู้ป่วยระดับ 1-3 ที่ตอบสนองไม่ดีต่อการรักษาด้วยยาอาจจำเป็นต้องใช้การรักษาแบบ office-based procedure (2) ดังนั้นแล้วระยะเวลาและความจำเป็นต้องใช้ยา daflon อาจต้องพิจารณาจากการตอบสนองของยาและจากข้อมูลที่ให้มาไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าจำเป็นต้องรักษาด้วย daflon นานเท่าไหร่ Daflon เป็นยาที่มีข้อมูลรายงานอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย โดยอาการข้างเคียงที่มีรายงานได้แก่ การเกิดผื่นลักษณะ eczema และ pityriasis rosea อาการทางระบบทางเดินอาหารได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารไม่ย่อยและอาการทางระบบประสาท ได้แก่ นอนไม่หลับ มึนเวียนศีรษะ ปวดศรีษะ และยังไม่พบรายงานว่าการใช้ยาเป็นระยะเวลานานเท่าใดจึงเกิดอาการข้างเคียง แต่อย่างไรก็ตามควรพิจารณาเลือกใช้ยาตามแต่ความจำเป็นเท่านั้น (3) ส่วนเพชรสังฆาต เป็นยาที่มีสรรพคุณในการรักษาริดสีดวงทวาร เพชรสังฆาตที่มีจำหน่ายทั่วไปเป็น capsule 0.5 g/capsule ขนาดแนะนำสำหรับรักษาริดสีดวงคือ คือ 1.5 g วันละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 4 วัน หรือ 1 g วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 วัน หรือ 0.5-1g วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ (4) ด้านข้อมูลความปลอดภัย ยังไม่พบรายงานการวิจัยเรื่องความเป็นพิษในคน มีเพียงรายงานในหนูว่า ไม่มีผลทําให้แท้ง และไม่มีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนของหนู อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานนาน และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นด้วย และมีข้อควรระวังในการรับประทานเพชรสังมาตสดด้วยเนื่องจากมีสารแคลเซียมออกซาเลทมาก อาจทําให้แพ้และเกิดการอักเสบในทางเดินอาหารได้ (5) รวมทั้งยังไม่มีผลการศึกษาถึงการใช้เพชรสังฆาตร่วมกับยาแผนปัจจุบันใดๆ รวมทั้ง daflon การรับประทานยาควรใช้แต่เพียงความจำเป็นการเนื่องจากการใช้ยาเป็นระยะเวลานานเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาและอาจไม่ได้รับประโยชน์จากยา และควรเน้นเรื่องการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น ผัก ผลไม้ ทำให้อุจจาระนุ่มโดยการดื่มน้ำให้มากขึ้น ถ้าท้องผูกมากอาจใช้ยาระบายแบบที่ทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น Key words: Daflon, hemorrhoid, เพชรสังฆาต, ริดสีดวง,

Reference:
1. Diosmin monograph. Altermative Medicine Review 2004;9(3): 308-11.
2. Rivadeneira DE, Steele SR, Terment C, Chalasani S, Buie WD, Rafferty JL. Practice parameters for management of hemorrhoids revised 2010. Diseeases of Colon and Rectum 2011; 54(9):1059-64
3. MICROMEDEX 2.0® [Database on the internet]: Truven health analytics; 2013. mobileMicromedex® , Diosmin ; [cited 2013 July 2]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com
4. http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2552/mph0552kv_ch2.pdf
5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สํานักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5466

Keywords:
-





ทางเดินอาหาร

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้