หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Erythromycin estolate กินก่อนอาหารหรือหลังอาหารค่ะ พอดีสับสน เนื่องจากอาจารย์เคยสอนว่า erythromycin estolate ต้องใช้กรดจากน้ำย่อย ตัดEster bond จาก inactive เป็น active form

ถามโดย AAA เผยแพร่ตั้งแต่ 08/08/2011-13:36:45 -- 33,326 views
 

คำตอบ

ยา Erythromycin ในรูปแบบรับประทานมีอยู่ในรูปของเกลือต่างๆ ได้แก่ 1. erythromycin base 2. erythromycin stearate 3. erythromycin estolate และ 4. erythromycin ethylsuccinate ซึ่งในทุกรูปแบบของยาตัวที่ออกฤทธ์ในการต้านจุลชีพ คือ erythromycin base และการดูดซึมของยาขึ้นอยู่กับรูปแบบของเกลือที่ใช้ โดย erythromycin base และ stearate มีความสามารถในการทนกรดต่ำ จึงดูดซึมได้ดีที่สุดในขณะท้องว่าง และควรกินก่อนอาหาร 0.5-1 ชม. หรือหลังอาหาร 2 ชม. (pH ในกระเพาะอาหารมากกว่า 4) ส่วนยา erythromycin ในรูปแบบ estolate และ ethylsuccinate เป็นเกลือที่อยู่ในรูปของ ester ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ดี และควรกินยาหลังอาหารเนื่องจากอาหารจะกระตุ้นการหลั่งกรด และกรดที่หลั่งออกมาจะทำลายเอนไซม์ esterase ในกระเพาะอาหาร ทำให้ ester bond ของยาไม่ถูกทำลาย ยาจึงถูกดูดซึมได้ดีในรูปของ ester จากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และเอนไซม์ esterase ในเลือดจะเป็นตัวทำลาย ester bond ของยา และออกฤทธิ์ในรูปของ erythromycin base ดังนั้นกรดในกระเพาะอาหารจึงมีความสำคัญในการป้องกันยา erythromycin estolate จากการทำลายของเอนไซม์ esterase ในกระเพาะอาหาร ไม่ใช่ใช้กรดตัด ester bond ดังนั้นการทานยาที่อยู่ในรูป ester ทุกชนิดควรรับประทานหลังอาหารจากเหตุผลดังกล่าว ยาอื่นที่อยู่ในรูป ester เช่น ยา cefpodoxime proxetil ยา cefuroxime axetil และ ยา cefditoren pivoxil ก็แนะนำให้รับประทานหลังอาหารเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่ายาerythromycin ในรูปแบบ estolate จะมีข้อดีในเรื่องของการดูดซึมที่ดีกว่าเกลืออื่น และสามารถทานหลังอาหารทำให้ลดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แต่การใช้ยา erythromycin estolate ควรระวังในผู้ป่วยโรคตับเนื่องจากมีรายงานถึงความเป็นพิษต่อตับมากกว่าเกลือในรูปแบบอื่น

Reference:
1.Erythromycin. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2011 Aug 7. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2011. [cited 2011 Aug 9].
2.ปรีชา มนทกานติกุล. Food – Drug Interaction. ใน: ธิดา นิงสานนท์, ปรีชา มนทกานติกุล และสุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, บรรณาธิการ. คู่มือการใช้ยาสำหรับบุคลากรสาธารณสุข. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด; 2549: 27-44.

Keywords:
-





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้