คำตอบ
Manic episode คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) โดย manic episode เป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการฟุ้งพล่าน (mania) ซึ่งเกิดสลับกับช่วงที่มีอาการซึมเศร้า (depressive episode) อาการที่เกิดขึ้นในช่วง manic episodeได้แก่ อยู่ไม่สุข ชอบทำงานหรือลุกเดินไปมา ความคิดแล่นเร็ว พูดเร็ว ความต้องการในการนอนน้อยลงหรือไม่อยากนอนหงุดหงิดง่าย ตัดสินใจไม่เหมาะสม ไม่มีสมาธิ และอาจทำอันตรายต่อผู้ใกล้ชิด
ส่วนอาการที่เกิดขึ้นในช่วง depressive episode ได้แก่ ซึมเศร้า ไม่มีความสุข น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น อยากนอนแต่นอนไม่หลับ เหนื่อยล้าง่าย อ่อนเพลีย รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดตลอดเวลา สูญเสียสมาธิ และที่สำคัญคือ มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายด้วย
การรักษาภาวะ manic episode จะรักษาด้วยยาเป็นหลัก ร่วมกับการให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ
การรักษาด้วยยา
มีเป้าหมายเพื่อควบคุมอาการฟุ้งพล่าน ทำให้อยู่ในสภาพปกติมากที่สุดเพื่อความปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ใกล้ชิด ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
วิธีการรักษา manic episode นั้นจะเน้นยาในกลุ่ม mood stabilizer และกลุ่ม atypical antipsychotic โดยอาจจะใช้ยาตัวเดียวหรือใช้หลายตัวร่วมกันก็ได้ แต่จากข้อมูลการศึกษาพบว่าการใช้ยาเดี่ยวๆ ในระยะยาว ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยตอบสนองต่อยาเท่าที่ควรดังนั้นการใช้ยาในกลุ่ม mood stabilizer ร่วมกับ atypical antipsychotic จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า และจากการศึกษาชื่อ EMBLEM (European Mania in Bipolar Longitudinal Evaluation of Medication)[2] แสดงให้เห็นว่าการรักษา manic episode มีความซับซ้อนและมักจะเป็นการรักษาแบบใช้ยาร่วมกัน (combination) มากกว่าที่จะใช้ยาชนิดเดียว อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนตัวยาที่ใช้รักษาเป็นระยะเพื่อตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย ตัวอย่างยาที่ใช้รักษา manic episode ได้แก่
กลุ่ม mood stabilizer เช่น lithium (ในรูป เกลือ carbonate หรือ เกลือ citrate) carbamazepine, lamotrigine, topiramate
กลุ่ม atypical antipsychotic เช่น olanzapine, chlorpromazine, risperidone, quetiapine, ziprasidone, aripiprazole
ยาแต่ละชนิดมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน และผู้ป่วยแต่ละรายอาจตอบสนองต่อยาได้ดีแตกต่างกัน การเลือกใช้ยายังต้องทราบถึงข้อมูลของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น โรคประจำตัว หรือประวัติการแพ้ยา เพื่อให้การใช้ยามีความเหมาะสมและเกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด จึงไม่อาจบ่งชี้ได้ว่ายาใดให้มีประสิทธิภาพดีที่สุด นอกจากนี้ที่สำคัญยังต้องดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาต่อเนื่องอย่าให้หลงลืมเป็นอันขาดครับ
หากสนใจเกี่ยวกับ Guideline ของการรักษา manic episode สามารถหาได้จาก guideline เกี่ยวกับการรักษา bipolar disorder ที่รวบรวมโดยองค์กร ต่างๆ เช่น
- The American Psychiatric Association (APA)
- Practice guideline for the treatment of patients with bipolar disorder
(revision) ซึ่งสามารถหาได้จากเว็บไซต์
http://www.guidelines.gov/
- The Scottish Intercollegiate Guidelines Network (SIGN)
- Bipolar affective disorder. A national clinical guideline ซึ่งสามารถหา
ได้จากเว็บไซต์
http://www.guidelines.gov/
- The American Academy of Child and Adolescent Psychiatry
- Practice parameter for the assessment and treatment of children and
adolescents with bipolar disorder. J Am Acad Child Adolesc
Psychiatry 2007;46:107-25.
แต่อย่างไรก็ดี guideline ที่ใช้ตามแต่ละโรงพยาบาลอาจจะแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ข้างต้น เนื่องจากความเหมาะสมหรือความพร้อมของแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกันครับ
Reference:
1. Sudak D, Mechaber AJ. Bipolar disorder [Online]. 2007 Aug 23. Avilable from: MD consult; 2009. [cited 2009 Oct 27].
2. Reed C, Novick D, Pinto AG, Bertsch J, Haro JM. Observational study designs for bipolar disorder — What can they tell us about treatment in acute mania?. Prog Neuropsychopharmacol Biol Psychiatry 2009;33:715-21.
3. Rapoport SI, Basselin M, Kim HW, Rao JS. Bipolar disorder and mechanisms of action of mood stabilizers. Brain Res Rev 2009;61:185-209.
Keywords:
-