หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบเกี่ยวตัวยา Isotretinoin ที่รักษาสิวว่า อันตรายแค่ไหนคะ และอยากทราบตัวยา REtin A ใช้รักษาสิวหรือว่ารักษารอยแผลสิวคะ แล้วตัวยาสองตัวนี้ใช้ด้วยกันได้ไหมคะ??

ถามโดย วรณัน เผยแพร่ตั้งแต่ 14/09/2009-18:56:39 -- 7,965 views
 

คำตอบ

Isotretinoin เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามิน A ที่อยู่ในรูปแบบยารับประทาน ส่วน Retin A® เป็นชื่อการค้าของ tretinoin ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามิน A กัน แต่ Retin A® จะอยู่ในรูปแบบของยาทา ซึ่งยาทั้งสองมีประสิทธิภาพดีสำหรับการรักษาสิว 1. คำถามแรกเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ isotretinoin Isotretinoin หากใช้อย่างถูกวิธีและเหมาะสมจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตครับ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ผลข้างเคียงและผลจากการใช้ไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะสม isotretinoin เป็นยาที่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์และอาจทำให้แท้งบุตรได้ ดังนั้นการเริ่มใช้ยาดังกล่าวผู้ใช้จะต้องแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ และหากผู้ที่ใช้ยามีแผนที่จะมีบุตรอาจต้องพิจารณาหยุดรับประทานยาดังกล่าว และต้องระวังการรับประทานหรือสัมผัสยาดังกล่าวขณะตั้งครรภ์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา isotretinoin ได้แก่[1] - อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์รุนแรง อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ซึ่งต้องระวังเป็นอย่างมากหากใช้ยานี้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตอยู่แล้ว และควรดูแลอย่างใกล้ชิดในกรณีที่ผู้ใช้ยาเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เพราะยาอาจมีผลทำให้เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ - มีการรายงานว่าการรับประทาน isotretinoin ร่วมกับยา tetracycline ที่เป็นยาฆ่าเชื้ออาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นผิดปกติของตาสองข้าง และเปลือกตาบวม ซึ่งอาการดังกล่าวจะคล้ายกับการเป็นเนื้องอกในสมองได้[2] หากผู้รับประทานยามีอาการเหล่านี้ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที - การได้ยินเสื่อมลง ซึ่งมีการรายงานว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นแม้ว่าจะหยุดยาไปแล้ว - ทำให้เกิดตับอักเสบ และค่าเอนไซม์ของตับในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องระวังในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับอยู่แล้ว เช่น เป็นไวรัสตับอักเสบ หรือมีภาวะตับแข็ง เป็นต้น - มีรายงานการทำให้เกิดการเสื่อมของความสามารถในการมองเห็นรวมถึงอาจทำให้ความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดลงได้ด้วย - ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เมื่อใช้ยา isotretinoin - มีการรายงานเกี่ยวกับการทำให้มวลกระดูกลดลงได้ ดังนั้นอาจต้องระวังการใช้ยาในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก เช่น กระดูกพรุน กระดูกนุ่ม รวมถึงต้องระวังการใช้ isotretinoin ร่วมกับยาอื่นที่มีผลทำให้มวลกระดูกลดลงด้วย - ทำให้ผิวหนัง ปาก จมูกแห้ง ซึ่งพบได้บ่อยและอาการจะหายไปเมื่อหยุดยา - ทำให้ระดับไขมัน triglyceride ในเลือดสูงขึ้น อาจจะต้องระวังในผู้ที่มีปัญหาระดับไขมัน triglyceride ในเลือดสูง คำแนะนำในการใช้ยานี้ คือ[1] - ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรและปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด - หากมีอาการผิดปกติหลังจากรับประทานยา isotretinoin ดังที่ระบุไว้ในหัวข้อผลข้างเคียง ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที - แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่าตอนนี้รับประทานยา isotretinoin อยู่ ในทุกๆครั้งที่ได้รับยาชนิดใหม่ - ห้ามบริจาคเลือดในระหว่างที่รับประทานยา isotretinoin เนื่องเลือดที่บริจาคไปนั้นจะมียา isotretinoin อยู่ หากผู้ที่รับเลือดนั้นไปใช้เป็นหญิงตั้งครรภ์ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกหรือที่ร้ายแรงที่สุดคือทำให้แท้งได้ - ยังไม่มีการระบุถึงข้อมูลความปลอดภัยจากการใช้ยานี้ในระยะยาว ดังนั้นไม่แนะนำให้ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง - เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้ยา isotretionoin เนื่องจากยังไม่มีการระบุข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาจากการใช้ในเด็กช่วงอายุดังกล่าว 2. คำถามที่สองที่ถามว่า Retin A® ใช้สำหรับรักษาสิวหรือแผลเป็นจากสิว Tretinoin ที่เป็นส่วนประกอบใน Retin A นั้นนอกจากมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาสิวแล้วยังมีข้อมูลว่ามีผลต่อการทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิว และลดรอยด่างดำได้ด้วยครับ [3] 3. คำถามที่สามถามว่าการใช้ isotretinoin ร่วมกับ Retin A ได้หรือไม่ ในการรักษาสิว จะไม่แนะนำให้ใช้ยาทั้งสองร่วมกัน ให้เลือกใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่งตามความรุนแรงของสิวที่เป็นอยู่ครับ ซึ่ง isotretinoin จะใช้รับประทานกรณีที่เป็นสิวรุนแรงเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาทั้งสองมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกันอีกทั้งการใช้ร่วมกันจะทำให้ผู้ใช้ได้รับผลข้างเคียงจากยามากขึ้นด้วยครับ[4]

Reference:
1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL, editors. Isotretinoin. In: Drug information handbook with international trade names index. 18th ed. Lexi-Comp; 2009. p. 887-9.
2. Lee AG. Pseudotumor cerebri after treatment with tetracycline and isotretinoin for acne. Cutis. 1995 Mar;55(3):165-8.
3. Huang CK, Miller TA. The Truth About Over-the-Counter Topical
Anti-Aging Products: A Comprehensive Review. Aesthet Surg J 2007; 27:402–412.
4. Thiboutot D, Gollnick H, Bettoli V, Dreno B, Kang S, Leyden JJ et al. New insights into the management of acne: An update from the Global Alliance to Improve Outcomes in Acne Group. J Am Acad Dermatol 2009;60(5):S1-S50.

Keywords:
-





ผิวหนังและเครื่องสำอาง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้