หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Atenolol 50 mg เช้า 1 ครั้ง เทียบกับ 25mg 2ครั้ง เช้า เย็น 1) ผมทาน Atenolol 50 mg ตอนเช้าร่วมกับ Zanidip 20 mg และ Hyles 25 mg ความดันลดเหลือ 105/65 มีอาการมึนหัว ช่วงบ่ายถึงค่ำความดันประมาณ 120/75 อยากสอบถามว่าผมควรปรับมาทาน Atenolol 25 mg วันละ2ครั้ง เช้าเย็นดีกว่ามั้ยครับ? ความดันตอนเช้าจะได้ไม่ต่ำมาก จะได้ไม่มึนหัว (เคยทาน 25mg วันละเพียง1ครั้งแค่ตอนเช้าอย่างเดียว หัวใจเต้นเร็วขึ้นเกือบ90ครั้งต่อนาที) 2) Atenolol ต้าน Beta1เป็นหลัก แอบต้าน Beta2เล็กน้อย การทาน Atenolol 50mg ครั้งเดียวเทียบกับแยกทาน25mgเช้าเย็น ทานแบบ50mgครั้งเดียวจะมีผลต้านBeta2มากกว่าแบบแยกทาน25mgมั้ยครับ?

ถามโดย ต้อม เผยแพร่ตั้งแต่ 31/12/2024-22:15:19 -- 390 views
 

คำตอบ

Atenolol เป็นยาลดความดันในกลุ่ม beta-adrenergic receptor antagonists (beta-blockers) ซึ่งมีคุณสมบัติเลือกเฉพาะในการปิดกั้นตัวรับ beta-1 receptor (beta-1 selective blocker) ที่พบในหัวใจ ทำให้ลดอัตราการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ และมีผลต่อตัวรับ beta-2 receptor น้อย จึงมีผลข้างเคียงต่อระบบหายใจและระบบเมแทบอลิซึมน้อยกว่ากลุ่มที่ปิดกั้น beta receptor แบบไม่เฉพาะเจาะจง (non-selective beta blocker) โดยขนาดยาที่สูงขึ้นย่อมมีผลปิดกั้นตัวรับ beta-2 receptor มากกว่าขนาดยาต่ำ ดังนั้นการรับประทาน 50 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาจมีผลต่อตัวรับ beta-2 receptor มากกว่าการแบ่งรับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง แต่โดยทั่วไปแล้วการรับประทานในขนาดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน ถือเป็นขนาดยาที่ต่ำและแทบจะไม่มีผลปิดกั้น beta-2 receptor เลย ส่วนการรับประทาน atenolol เพื่อรักษาความดันโลหิตสูงที่ขนาด 50 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้งได้ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้สามารถควบคุมความดันและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดในผู้ป่วยบางราย เช่น หน้ามืด มึนหัว เป็นต้น ทั้งนี้อาการมึนหัวอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ นอกจากยาลดความดัน เช่น ความดันตกจากการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว หูชั้นในอักเสบ หรืออาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นแนะนำให้ติดต่อแพทย์เพื่อปรึกษาการปรับการรับประทานยา รวมถึงพิจารณาปัจจัยอื่นที่อาจมีผลทำให้เกิดอาการมึนหัว

Reference:
Atenolol. Micromedex [Internet]. 2025 [cited 2025 Jan 5]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.ejournal.mahidol.ac.th/micromedex2/librarian

Atenolol [package insert]. Wilmington (DE) : AstraZeneca Pharmaceuticals LP ; 2011.

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. เวียนศีรษะ. [อินเทอร์เน็ต]. 14 ตุลาคม 2553 [เข้าถึงเมื่อ 7 ม.ค. 2568]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=485

Keywords:
atenolol, ความดันโลหิตสูง





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้