หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปกติกินยาคุมทุกๆ22:00 แล้วท้องเสียหลังกินยาคุมไปไม่เกินครึ่งชั่วโมงในเม็ดที่5 แล้วทานเม็ดที่เหลือในแผงเดิมแทนไป1เม็ดคือเม็ดที่6 แล้วพอในเช้าวันต่อมาไปซื้อแผงใหม่ แล้วกินต่อจากเม็ดเดิมเวลาเดิมคือเม็ดที่6 แบบนี้จะยังป้องกันได้มั้ยคะ หลั่งในได้มั้ย

ถามโดย อิอิิ เผยแพร่ตั้งแต่ 14/12/2024-23:32:49 -- 270 views
 

คำตอบ

ท้องเสีย คือ อาการถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่าเท่ากับ 3 ครั้งต่อวัน (1) หากรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรายเดือนแล้วเกิดอาการท้องเสีย แบ่งแนวทางการจัดการตามชนิดยาคุมกำเนิดที่รับประทานโดยอ้างอิงจากคำแนะนำปฏิบัติการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดโดยหน่วยงานศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกา ปี 2024 (2) กรณีเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (เช่น Minidoz®, Annylyn®, Mercilon®, Synfonia®, Yaz®, Yasmin®) (3,4) หากท้องเสียน้อยกว่า 48 ชั่วโมงในช่วงที่รับประทานยาคุม ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาซ้ำและไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากภาวะท้องเสียอย่างรุนแรงเท่านั้นจึงจะมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิด รวมทั้งยังไม่มีหลักฐานหรือการศึกษาทางคลินิกที่แสดงว่าประสิทธิภาพของยาที่ลดลงส่งผลต่อการตั้งครรภ์ (2) ส่วนกรณีเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (เช่น Exluton®, Dailyton®, Cerazette®, Slinda®) (5) หากเกิดอาการท้องเสียภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากรับประทาน แนะนำให้ซื้อยาคุมกำเนิดแผงใหม่ (ยี่ห้อเดิม) เพื่อเป็นแผงสำรอง แล้วรับประทานยาเม็ดฮอร์โมน 1 เม็ดจากแผงสำรองนั้น จากนั้นให้รับประทานเม็ดที่เหลือจากแผงเดิมจนหมด แล้วเริ่มต้นใช้ยาแผงใหม่ (ไม่ใช้แผงสำรอง) โดยเก็บยาแผงสำรองไว้ใช้เมื่อไม่มียาเม็ดฮอร์โมนในวันนั้น ๆ ร่วมกับการใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างมีอาการท้องเสีย และต่อไปอีก 1 สัปดาห์หลังจากอาการท้องเสียหายแล้ว ในกรณีมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันในช่วงที่มีอาการท้องเสียอาจพิจารณาใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (2) โดยหากปฏิบัติตามแนวทางการจัดการข้างต้น ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดจะไม่เปลี่ยนแปลง

Reference:
1.Patient education: diarrhea in children (the basics). UpToDate. Updated August 22, 2023. Accessed January 9, 2025. www.uptodate.com/contents/diarrhea-in-children-the-basics 

2.Curtis KM. US selected practice recommendations for contraceptive use, 2024. MMWR. 2024;73. MMWR Recomm Rep. 2024;73(3):1-77.

3.อมราพร จันทร์กระจ่าง. Combined oral contraceptive pills (COC): ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม. สูติศาสตร์ล้านนา [อินเทอร์เน็ต]. 31 ธันวาคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก : https://www.siriwanmedicalclinic.com/post/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84-%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99-%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%99-%E0%B8%94%E0%B8%81-%E0%B8%99-oral-contraceptive-pills

4.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ [อินเทอร์เน็ต]. 14 กุมภาพันธ์ 2561 [เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=417

5.สุพัตรา เจษฎาภัทรกุล. รู้จักยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว. คลังข้อมูลยา [อินเทอร์เน็ต]. 6 มิถุนายน 2566 [เข้าถึงเมื่อ 24 ธันวาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=68

Keywords:
ยาคุมกำเนิด, ท้องเสีย





ฮอร์โมน

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้