หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หญิงน้ำหนัก90กก. สูง160ซม. ประวัติประจำเดือนมาไม่ปกติ จึงกินยาคุมรายเดือน ประจำเดือนจึงมาปกติ ต่อมาเลิกกินยาคุม แต่กินยาคุมฉุกเฉินแทน พบว่าประจำเดือนไม่มา 3 เดือนแล้ว และไม่ได้ตั้งครรภ์ ถามว่าถ้าจะกินยาคุม ควรกินยาคุมอะไร

ถามโดย ดิษยา เผยแพร่ตั้งแต่ 02/11/2024-16:00:51 -- 458 views
 

คำตอบ

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills) เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่รับประทานภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบได้บ่อย ได้แก่ การคลาดเคลื่อนของประจำเดือนที่อาจมาเร็วหรือมาช้าไปประมาณ 1 สัปดาห์ โดยสามารถเริ่มยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานสม่ำเสมอต่อไปได้ทันทีภายหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ในกรณีนี้อาจพิจารณาใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (progestogen-only pills; POP, อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=68) เนื่องจากการใช้ (combined oral contraceptive; COC) ในผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายค่อนข้างมาก (จากคำถามคำนวณดัชนีมวลกายได้ประมาณ 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism; VTE, อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=417) ทั้งนี้ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบการเลือกใช้ยา เช่น ประวัติการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ โรคประจำตัวและรายการยาปัจจุบันของผู้ป่วย เป็นต้น และรอให้ยาออกฤทธิ์ราว 1 สัปดาห์ โดยให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยไปก่อน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และควรตรวจตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไปหลังใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรือรอให้ถึงกำหนดเวลาปกติของการมีประจำเดือน หากพ้นเวลานั้นแล้วยังไม่มีประจำเดือนมาจึงควรทดสอบการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะยาว และการคลาดเคลื่อนของประจำเดือนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เบื้องต้นหากประจำเดือนของผู้ป่วยยังไม่เป็นปกติ แนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินถึงสาเหตุและหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

Reference:
Emergency contraception. UpToDate® 2024. https://www.uptodate.com/contents/emergency-contraception. 

Practice Bulletin No. 152: Emergency contraception. Obstet Gynecol. 2015 Sep;126(3): e1-e11. 

WHO. Emergency contraception. Fact sheets updated November 2021. http://www.who.int/mediacentre/ factsheets/fs244/en 

WHO. Medical eligibility criteria wheel for contraceptive use. Geneva: WHO Press; 2014 [cited 2024 Nov 10]. Available from: https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/173585/9789241549257_eng.pdf?sequence=1

Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare, UK. FSRH guideline: emergency contraception (Amend July 2023). [cited 2024 Oct 21]. Available from: https://www.fsrh.org/Common/Uploaded%20files/documents/fsrh-guideline-emergency-contraception03dec2020-amendedjuly2023-11jul.pdf. 

นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความเข้าใจเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน. สารคลังข้อมูลยา. 2560; 19(1):33-41. 

Keywords:
ยาคุมฉุกเฉิน, ยาคุมกำเนิด, ประจำเดือนมาไม่ปกติ





ฮอร์โมน

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้