หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อยากทราบ สรรพคุณ ประโยชน์ โทษ ผลข้างเคียง ของ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี L-Tryptophan เป็นหลักซึ่งระบุสรรพคุณว่า ช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้น

ถามโดย K เผยแพร่ตั้งแต่ 11/08/2024-13:23:34 -- 587 views
 

คำตอบ

L-tryptophan เป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง ต้องได้รับจากอาหาร เช่น นม เนื้อสัตว์ ไข่แดง ถั่ว เป็นต้น เป็นสารตั้งต้นของการสร้างเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร การนอนหลับ ซึ่งการใช้ L-tryptophan ในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) อาจช่วยให้เกิดการผ่อนคลายและลดระยะเวลาที่ใช้เพื่อให้นอนหลับ (sleep latency) เมื่อเทียบกับยาหลอก โดยขนาดที่มีใช้ในงานวิจัยมีหลากหลายตั้งแต่ 2.5-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ง่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ สั่น เป็นต้น การใช้ร่วมกับยาที่เพิ่มระดับเซโรโทนินอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า serotonin syndrome เช่น กล้ามเนื้อกระตุก เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย โคม่า เป็นต้น ถ้าหากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ ดังนั้นการพิจารณาใช้ L-tryptophan อาจใช้ในกรณีที่มีอาการเล็กน้อย และเริ่มใช้ในขนาดต่ำ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือมีโรคซึมเศร้าหรือโรคทางอารมณ์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์

Reference:
Medlineplus. L-Tryptophan [Internet]. 2023 [cited 2024 August 25]. Available from: https://medlineplus.gov/druginfo/natural/326.html#:~:text=L%2DTryptophan%20is%20an%20essential,be%20consumed%20from%20the%20diet.

Richard DM, Dawes MA, Mathias CW, Acheson A, Hill-Kapturczak N, Dougherty DM. L-Tryptophan: Basic Metabolic Functions, Behavioral Research and Therapeutic Indications. Int J Tryptophan Res. 2009;2:45-60.

Fernstrom JD. Effects and side effects associated with the non-nutritional use of tryptophan by humans. J Nutr. 2012;142(12):2236S-2244S.

Keywords:
L-tryptophan, นอนหลับ, เซโรโทนิน





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้