หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาแก้ปวด pain killer รูปแบบฉีด (severe pain) ที่สามารถให้ได้กับ หญิงตั้งครรภ์ ในแต่ละไตรมาส และสามารถให้ได้กับหญิงให้นมบุตรได้ คืออะไรบ้างคะ

ถามโดย พยาบาลตั้งครรภ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 21/06/2024-04:40:25 -- 639 views
 

คำตอบ

ปัจจุบันนี้ยังไม่มีแนวทางการรักษาความปวดในหญิงตั้งครรภ์ การเลือกใช้ยาแก้ปวดจึงอ้างอิงจากการใช้ยาแก้ปวดในคนปกติร่วมกับพิจารณาข้อมูลความเสี่ยงของยานั้น ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ หากเป็นไปได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาในไตรมาสแรก (สัปดาห์ที่ 0 ถึง 12) เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาของอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ไขสันหลัง แขน และขา จึงควรระมัดระวังการใช้ยามากที่สุด ในช่วงไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13 ถึง 27) และ 3 (สัปดาห์ที่ 28 ถึง 40) เป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตและพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ การให้ยาในช่วงนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกได้เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วการรักษาความปวดระดับรุนแรงมักใช้ยากลุ่ม opioids ที่มีฤทธิ์สูง ที่มีในรูปแบบฉีด เช่น morphine, fentanyl และ methadone แต่การใช้ opioids อาจทำให้ทารกเกิดอาการถอนยา และหากใช้ยาเป็นระยะเวลานานหรือได้ยาในช่วงเวลาใกล้คลอดอาจทำให้เกิด neonatal opioid withdrawal syndrome (NOWS) ส่งผลให้ทารกมีอาการง่วงซึมและกดการหายใจอย่างมาก ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอด้านความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติโดยกำเนิดหรือการแท้งลูก สำหรับการใช้ opioids ในหญิงให้นมบุตร พบว่าควรลดขนาดยา opioids ที่ใช้อยู่ให้มีขนาดต่ำที่สุดประมาณ 2 ถึง 3 วันก่อนเริ่มให้นมบุตร โดย morphine เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในยากลุ่มนี้ ก่อนเลือกใช opioids จึงควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ยาก่อนเสมอ ยาอื่นที่อาจพิจารณาเพื่อเป็นทางเลือก ได้แก่ paracetamol ในรูปแบบฉีด ซึ่งใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกไตรมาสและหญิงให้นมบุตร หรือยากลุ่ม NSAIDs รูปแบบฉีด เช่น ketorolac, diclofenac และ ibuprofen ซึ่งสามารถใช้ได้ในไตรมาสที่ 1 และ 2 แต่ไม่ควรใช้ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติของทารก โดย NSAIDs สามารถให้ในหญิงให้นมบุตรได้ อย่างไรก็ตามการใช้ยาต่าง ๆ ควรเลือกใช้ยาที่ขนาดต่ำที่สุดที่ยังให้ผลการรักษา และใช้ยาในระยะเวลาที่สั้นที่สุด พร้อมสังเกตอาการข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้แนวทางการใช้ยาแก้ปวดในแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ควรเลือกใช้ยาตามแนวทางของสถานพยาบาลนั้น ๆ และอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

Reference:
[1] Specialist pharmacy service of national health service. The principles of prescribing in pregnancy [internet]. 2021 [cited 2024 Jul 16]. Available from: https://www.sps.nhs.uk/articles/the-principles-of-prescribing-in-pregnancy/

[2] Specialist pharmacy service of national health service. Using opioids for pain relief during pregnancy [internet]. 2023 [cited 2024 Jul 16]. Available from: https://www.sps.nhs.uk/articles/using-opioids-for-pain-relief-during-pregnancy/

[3] Turner S, Allen VM, Carson G, et al. Guideline No. 443b: Opioid Use Throughout Women’s Lifespan: Opioid Use in Pregnancy and Breastfeeding. J Obstet Gynaecol Can. 2023;45(11):102144.

[4] Shah S, Banh ET, Koury K, Bhatia G, Nandi R, Gulur P. Pain Management in Pregnancy: Multimodal Approaches. Pain Res Treat. 2015;2015:987483.

[5] Kennedy D. Analgesics and pain relief in pregnancy and breastfeeding [internet]. 2011 [cited 2024 Jul 16]. Available from: https://www.nps.org.au/assets/f4cd8a064d47b62a-0e01df33044e-139fddfcb7c79fd0c38a7065fad62081b237334047fed3a63e4463e31f34.pdf

[6] Babb M, Koren G, Einarson A. Treating pain during pregnancy. Can Fam Physician. 2010 Jan;56(1):25, 27.

[7] Carroll DG. Drugs in pregnancy [internet]. 2013 [cited 2024 Jul 16]. Available from: https://jfmo.cchs.ua.edu/files/2013/09/Drugs_Pregnancy.pdf.

[8] Micromedex. morphine [internet]. 2024 [cited 2024 Jul 17]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.

[9] Micromedex. fentanyl [internet]. 2024 [cited 2024 Jul 17]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.

[10] Micromedex. methadone [internet]. 2024 [cited 2024 Jul 17]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.

[11] LactMed. morphine [internet]. 2024 [cited 2024 Jul 18]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501237/

[12] LactMed. fentanyl [internet]. 2024 [cited 2024 Jul 18]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501222/

[13] LactMed. methadone [internet]. 2024 [cited 2024 Jul 18]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501233/

Keywords:
ยาแก้ปวดรูปแบบฉีด, ปวดระดับรุนแรง, หญิงตั้งครรภ์, หญิงให้นมบุตร





กล้ามเนื้อและข้อต่อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้