หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาที่ใช้ป้องกันโรคมาลาเลีย คือยาอะไรครับ คือมีญาติที่กำลังจะไปเที่ยวป่า เขาต้องการหาซื้อยานี้ครับ

ถามโดย ปุ๊ เผยแพร่ตั้งแต่ 29/11/2007-11:19:25 -- 10,202 views
 

คำตอบ

มาลาเลียเป็นโรคที่เกิดจาก protozoa ชนิดหนึ่งคือ plasmodium ได้แก่ Plasmodium falciparum(P.F ), P.vivax ( P.V ) , P. malariae ( P.M ) และ P. ovale ( P.O ) ซึ่งแต่ละพื้นที่จะพบเชื้อได้ต่างชนิดกัน เช่น P. falciparum สำหรับในประเทศไทยนั้นพบได้ทั่วประเทศโดยเฉพาะบริเวณชายแดน P. vivax ในประเทศไทยพบมากบริเวณภาคใต้ P. malariae ไม่แพร่หลายนัก มีในแอฟริกากลางและตะวันตก ศรีลังกาและบางส่วนของมาเลเซีย P.ovale ประเทศไทยพบน้อยมาก เพียงปีละ 1-2 ราย และมักพบบริเวณจังหวัดชายแดนซึ่งมีมาลาเรียชุกชุม ถ้าต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด ซึ่งในประเทศไทยพบ Plasmodium falciparumได้บ่อยที่สุด รองลงมา คือ P.vivax ปัจจุบันยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษามาลาเรียมีหลายชนิด 1. Atovaquone ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่ใช้ร่วมกับ Proguanil ในยาเม็ดสำเร็จรูปซึ่งมีชื่อการค้าว่า Malarone (Atovaquone 250 mg และ Proguanil 100 mg ) โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละครั้งก่อนเดินทาง 1-2 วัน และรับประทานขณะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากนั้นรับประทานต่อหลังจากออกจากพื้นที่ 7 วัน 2. Doxycycline โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด (100 mg.) วันละครั้งเวลาเดียวกันทุกวันก่อนเดินทาง 1-2 วัน และรับประทานทุกวันขณะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากนั้นรับประทานต่อหลังจากออกจากพื้นที่ 4 สัปดาห์ 3. Mefloquine 250 mg. ทานสัปดาห์ละครั้ง โดยเริ่มทานก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง 1 สัปดาห์ และรับประทานสัปดาห์ละครั้งเวลาเดียวกันทุกวันขณะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากนั้นรับประทานต่อหลังจากออกจากพื้นที่ 4 สัปดาห์ 4. Primaquine 30 mg. โดยรับประทาน 2 เม็ด วันละครั้งก่อนเดินทาง 1-2 วัน และขณะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเวลาเดียวกันทุกวันจากนั้นรับประทานต่อหลังจากออกจากพื้นที่ 7 วัน ยังไม่มียาใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % ในปัจจุบัน Plasmodium falciparum ดื้อต่อยาหลายชนิด ดังนั้นควรทราบว่าพื้นที่ใดมีเชื้อมาลาเรียชนิดใดระบาดอยู่ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร ปัจจุบันไม่แนะนำให้กินยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากไม่ได้ผลมากนักและอาจทำให้เชื้อดื้อยา การซื้อยารักษาด้วยตนเอง หรือกินยาไม่ครบ อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเช่นเดียวกัน แนะนำให้สังเกตดูอาการ ถ้าพบว่ามีไข้หรืออาการที่สงสัยอาจเป็นไข้มาลาเรีย ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน หลังจากเดินทางกลับจากเขตที่มีการระบาดของเชื่อมาลาเรีย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ควรใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด, ควรนอนในมุ้งหรือในเต็นท์ที่กันยุง, การใช้ยาทาป้องกันยุง และควรสังเกตอาการไข้หลังจากออกจากพื้นที่เสี่ยง

Reference:
1. http://www-ddc.moph.go.th/drug_travel/
2.http://wwwn.cdc.gov/travel/destinationThailand.aspx
3. http://www.elib-online.com/doctors49/med_malalia001.html

Keywords:
-





ภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้