HPV Vaccination and Pregnancy Outcomes
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มกราคม ปี 2553 -- อ่านแล้ว 3,746 ครั้ง
การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย quadrivalent human papillomavirus (HPV) vaccine (Gardasil) นั้นได้รับการแนะนำให้ทำในหญิงช่วงอายุ 9-26 ปี ซึ่งในปัจจุบันการศึกษา 2 ชิ้น ได้แสดงข้อมูลใหม่เกี่ยวกับข้อมูลความปลอดภัยของการได้รับ HPV vaccine ในระหว่างตั้งครรภ์ดังนี้
การศึกษาแรก ผู้ศึกษาทำการประเมินข้อมูลจาก pregnancy registry ของหญิงที่ได้รับ HPV vaccine โดยไม่ได้ตั้งใจ ในระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ามีจำนวนผู้หญิงทั้งหมด 863 รายที่ได้รับวัคซีนในช่วง 30 วันหลังรอบประจำเดือนสุดท้าย (last menstrual period) แต่มีหญิงตั้งครรภ์เพียง 517 รายเท่านั้นที่พบข้อมูลการคลอดบุตร และจากข้อมูลที่มีพบว่ามีทารกที่คลอดออกมาและมีชีวิตรอดจำนวนทั้งหมด 454 ราย โดย 439 ราย (97%) ไม่พบความผิดปกติ 10 รายพบ major birth defect (prevalence = 2.2 ราย ต่อ liveborn neonates 100 ราย) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะของร่างกาย และมีรายงานจำนวนการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆของทารกในครรภ์หรือการเสียชีวิตของทารกในระยะแรก(early neonatal death) ทั้งหมด 8 ราย
การศึกษาที่สอง ผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลจาก randomized controlled trials จำนวน 5 การศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขออนุญาตวัคซีน (vaccine licensure process) ซึ่งมีจำนวนผู้หญิงจากการศึกษาทั้งหมดมากกว่า 20,000 ราย
ผลที่ได้พบว่า ในระหว่างการติดตามผลมีหญิงในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน และหญิงในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีการตั้งครรภ์ 1,796 ราย และ 1,824 ราย ตามลำดับ โดยอัตราของการเกิด Spontaneous miscarriage ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน และ 72% ของหญิงที่ตั้งครรภ์ในทั้งสองกลุ่มสามารถให้กำเนิดทารกซึ่งมีชีวิตรอดได้ ความผิดปกติของเด็กทารกคลอดใหม่ที่มีการระบุไว้ มีจำนวน 31 รายสำหรับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน และ 20 รายสำหรับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (P=0.2) โดยไม่พบการกระจุกกันของการเกิด malformation ในแต่ละแบบ นอกจากนี้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นพบว่ามีการกระจายแบบสุ่มตามช่วงเวลาของการให้วัคซีนซึ่งสัมพันธ์กับวันที่คาดว่าจะคลอดในทั้งสองกลุ่ม
จากข้อมูลการศึกษาข้างต้นบ่งชี้ว่าการได้รับ quadrivalent HPV vaccine โดยไม่ได้ตั้งใจในหญิงตั้งครรภ์นั้นมีความปลอดภัย โดย prevalence ของการเกิด congenital anomalies ไม่ได้มากกว่าที่เคยได้รับการรายงานจากการคลอดปกติ (2.7 ราย ต่อ ทารกคลอดใหม่ 100 ราย) และแม้ว่าอัตราการเกิด congenital malformations ของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกเล็กน้อย แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้น พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งไม่พบรูปแบบที่สอดคล้องกันของการเกิด malformation ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อมูลการศึกษาจะระบุว่ามีความปลอดภัยที่ดีก็ตาม หญิงที่ได้รับ HPV vaccine โดยไม่ตั้งใจในระหว่างตั้งครรภ์ก็ยังควรที่จะต้องได้รับการติดตามผลอย่างใกล้ชิดอยู่