หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แนวทางการจัดการภาวะกระดูกพรุน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2552 -- อ่านแล้ว 5,320 ครั้ง
 
ภาวะกระดูกพรุนมีผลทำให้มวลกระดูกลดลงจึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้หญิงจำนวน 8 ล้านคน, ผู้ชายจำนวน 2 ล้านคนมีภาวะกระดูกพรุนและประชากรจำนวน 34 ล้านคนมีภาวะกระดูกบาง อัตราการเสียชีวิตจากการเกิดกระดูกสะโพกหักในเพศชายและเพศหญิงพบได้ร้อยละ10-20 ต่อปี และหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยที่มีกระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นระยะเวลานาน โดยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะกระดูกสะโพกหัก 18 พันล้านเหรียญดอลล่าต่อปีโดยประมาณ US Preventive Services Task Force (USPSTF) แนะนำว่าผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีแต่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดกระดูกหักและผู้ชายที่อายุมากกว่า 70 ปีควรได้รับการตรวจหาภาวะกระดูกพรุนด้วย dual-energy x-ray absorptiometry (DEXA) โดยหากมีมวลกระดูกต่ำกว่า 2.5 SDs ของค่าเฉลี่ยมวลกระดูกที่วัดจากผู้ที่มีสุขภาพดี จะจัดว่ามีภาวะกระดูกพรุน หากค่ามวลกระดูกอยู่ระหว่าง 1-2.5 SDs ของค่าเฉลี่ยที่วัดจากมวลกระดูกผู้ที่มีสุขภาพดี แสดงถึงภาวะกระดูกบาง

การรักษาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรกในการรักษาภาวะกระดูกพรุนที่วินิจฉัยโดยใช้ DEXA คือ การป้องกันการพลัด ตก หกล้ม, การรับประทานแคลเซียมอย่างน้อย 1200 มิลลิกรัมต่อวัน และการได้รับวิตามินดีอย่างน้อย 700-800 IU ต่อวัน ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะกระดูกพรุนได้แก่ ยากลุ่ม Bisphosphonate, raloxifene, calcitonin, teriparatide และ ฮอร์โมนทดแทน

ข้อแนะนำในการป้องกันกระดูกหักและการรักษาภาวะกระดูกพรุนมีดังนี้

• ลดความเสี่ยงในการพลัด ตก หกล้ม และผู้สูงอายุควรระมัดระวังการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (level of evidence, B)

• ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีควรได้รับวิตามินดีเสริมอย่างน้อย 700-800 IU ต่อวัน ซึ่งอาจได้รับร่วมกับแคลเซียมหรือไม่ก็ได้เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก (level of evidence, B)

• อาจพิจารณาการใช้ยากลุ่ม bisphosphonates ในการป้องกันการเกิดกระดูกหัก ตามข้อบ่งใช้ต่อไปนี้ (level of evidence, A)

o Alendronate รับประทานในขนาด 70 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันกระดูกหัก (hip, vertebral, and nonvertebral fractures)

o Ibandronate รับประทานในขนาด 150 มิลลิกรัมต่อเดือนเพื่อป้องกันกระดูกสันหลังหัก

o Risedronate รับประทานในขนาด 35 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันกระดูกหัก (hip, vertebral, and nonvertebral fractures

o Bandronate โดยการฉีดเข้าหลอดเลือด 3 มิลลิกรัม ทุก 3 เดือน จำนวน 4 ครั้ง เพื่อเพิ่มมวลกระดูก

o Zoledronic acid โดยการฉีดเข้าหลอดเลือด 5 มิลลิกรัมต่อปี จำนวน 3 ครั้ง เพื่อป้องกันกระดูกหัก (hip, vertebral, and nonvertebral fractures)

• ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะกระดูกพรุนและมีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านมแนะนำให้ใช้ raloxifene ในการป้องกันกระดูกสันหลังหัก (level of evidence, A)

• ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแนะนำให้ใช้ calcitonin ในการป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักซ้ำ (level of evidence, B)

• ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีกระดูกสันหลังหักแนะนำให้ใช้ teriparatide ในการป้องกันภาวะกระดูกหักซ้ำ (level of evidence, A)
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้