หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Finerenone อาจมีศักยภาพในการรักษา HFmrEF และ HFpEF

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มกราคม ปี 2568 -- อ่านแล้ว 203 ครั้ง
 
หัวใจล้มเหลว (heart failure, HF) เป็นภาวะที่หัวใจมีความผิดปกติทางการทำงานหรือโครงสร้างจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ปัจจุบันแบ่งภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเป็น 3 กลุ่ม ตามปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจ (ejection fraction, EF) ได้แก่ 1) ผู้ที่มีค่า EF น้อยกว่าร้อยละ 40 (reduced EF, HFrEF) 2) ผู้ที่มีค่า EF ระหว่างร้อยละ 40-49 (mildly reduced EF, HFmrEF) และ 3) ผู้ที่มีค่า EF มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 (preserved EF, HFpEF) สำหรับการรักษา HFmrEF และ HFpEF ข้อมูลจาก 2023 ESC Guidelines for the diagnosis and treatment of acute and chronic heart failure แนะนำให้ใช้ sodium glucose co-transporter subtype 2 (SGLT2) inhibitors ร่วมกับการรักษาโรคร่วมต่าง ๆ โดยไม่ได้แนะนำยากลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงเคยมีการศึกษา TOPCAT trial ซึ่งไม่พบว่า spironolactone (mineralocorticoid receptor antagonists) มีประสิทธิภาพในการรักษา HFpEF อย่างแน่ชัด จนล่าสุดมีการศึกษา The FINEARTS-HF trial ที่ออกมาระบุถึงประสิทธิภาพของ finerenone ซึ่งเป็น mineralocorticoid receptor antagonists รุ่นใหม่ที่ไม่มี steroid ring ในโครงสร้างทางเคมี ทำให้จับกับ mineralocorticoid receptor ได้จำเพาะมากขึ้นและสามารถกระจายไปหัวใจและไตได้ในระดับเดียวกัน โดยพบว่า finerinone ซึ่งในปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีประสิทธิผลในการรักษา HFmrEF และ HFpEF เช่นกัน

โดยการศึกษา The FINEARTS-HF trial เปรียบเทียบระหว่างการใช้ finerenone 20 หรือ 40 มิลลิกรัม ปรับขนาดยาตามค่าอัตราการกรองของไต (estimated glomerular filtration rate, eGFR) กับยาหลอก ในผู้ป่วยที่มีค่า left ventricular ejection fraction (LVEF) มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 40 เป็นเวลา 32 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ New York Heart Association (NYHA) functional class II คือ มีอาการแสดงเมื่อมีการออกแรงปานกลาง อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังมีการใช้ยาเดิม เช่น beta-blockers, angiotensin-converting enzyme inhibitors, angiotensin receptor blockers และ SGLT2 inhibitors ผลการศึกษาพบว่า finerenone สามารถลดอาการและอาการแสดงของภาวะหัวใจล้มเหลวจนจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรง พยาบาลได้มากกว่ายาหลอก 18% (rate ratio, 0.82; 95% CI, 0.71 to 0.94; P=0.006) แต่ไม่พบความแตกต่างในการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (hazard ratio, 0.93; 95% CI, 0.78 to 1.11) ทั้งนี้พบว่ากลุ่มที่ใช้ finerenone มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงมากกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก (ระดับโพแทสเซียมในเลือดมากกว่า 6 มิลลิโมลต่อลิตร) ดังนั้นผลจากการศึกษานี้อาจสรุปได้ว่าการใช้ finerenone มีประสิทธิภาพในการลดอาการและอาการแสดงของภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจเป็นตัวเลือกในการรักษา HFmrEF และ HfpEF ได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ต้องได้รับการติดตามระดับโพแทสเซียมอย่างใกล้ชิด



เอกสารอ้างอิง

1. McDonagh TA, Metra M, Adamo M, et al. 2023 Focused Update of the 2021 ESC Guidelines for the diagnosis and treatment of acute and chronic heart failure: Developed by the task force for the diagnosis and treatment of acute and chronic heart failure of the European Society of Cardiology (ESC) With the special contribution of the Heart Failure Association (HFA) of the ESC. European Heart Journal. 2023; 44.37:3627-3639.

2. Pitt B, Pfeffer MA, Assmann SF, et al. Spironolactone for heart failure with preserved ejection fraction. N Engl J Med. 2014; 370(15):1383-1392.

3. Solomon SD, McMurray JJV, Vaduganathan M, et al. Finerenone in heart failure with mildly reduced or preserved ejection fraction. N Engl J Med. 2024.

4. Kolkhof P, Delbeck M, Kretschmer A, et al. Finerenone, a novel selective nonsteroidal mineralocorticoid receptor antagonist, protects from rat cardiorenal injury. J Cardiovasc Pharmacol. 2014; 64(1):69-78.

5. Bakris GL, Agarwal R, Anker SD, et al. Effect of finerenone on chronic kidney disease outcomes in type 2 diabetes. N Engl J Med. 2020; 383(23):2219-2229.

6. Pitt B, Filippatos G, Agarwal R, et al. Cardiovascular events with finerenone in kidney disease and type 2 diabetes. N Engl J Med. 2021; 385(24):2252-2263.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
finerenone ภาวะหัวใจล้มเหลว HFmrEF HFpEF
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้