Erenumab อาจช่วยลดอาการของโรคผิวหนังอักเสบ rosacea
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มิถุนายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 978 ครั้ง
Rosacea เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้าซึ่งมีลักษณะเด่น คือ มีอาการแดงกลางใบหน้าแบบเรื้อรัง ร้อนบริเวณใบหน้าหรือจุดอักเสบ จมูกขยายใหญ่ขึ้นและผิวหนังบนจมูกอาจหนาขึ้น และ/หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา โดยการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพจำกัด ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังมักต้องเจ็บปวดทั้งทางกายและทางจิตใจ[1] แม้ว่าพยาธิสรีรวิทยาของโรคยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน แต่เป็นที่ทราบกันว่า rosacea เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และมีการส่งสัญญาณที่ผิดปกติของนิวโรเปปไทด์ เช่น calcitonin gene-related peptide (CGRP) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ rosacea และไมเกรนล้วนมีระดับของ CGRP ในพลาสมาที่สูงขึ้น[2]
จากการศึกษาแบบ open-label, single-group, non-randomized controlled study ที่เผยแพร่ใน JAMA Dermatology ของยา erenumab ซึ่งเป็น anti–CGRP-receptor monoclonal antibody ที่ใช้ในการรักษาไมเกรน มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 คน อายุเฉลี่ย 38.8 ปี คิดเป็นเพศหญิง 77% เป็นโรคผิวหนัง rosacea ที่มีผื่นแดงบริเวณใบหน้า (erythema) ระดับปานกลางถึงรุนแรง และ/หรือหน้าแดงร้อน (flushing) ระดับปานกลางถึงรุนแรงอย่างน้อย 15 วัน ทุกคนได้รับ erenumab 140 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุก 4 สัปดาห์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยไม่อนุญาตให้ใช้การรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วยตลอดระยะเวลาการศึกษา พบว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9 ถึง 12 จำนวนเฉลี่ยของวันที่ผู้ป่วยมี flushing ระดับปานกลางถึงรุนแรงลดลงจาก 23.6 เป็น 6.9 วัน (95% CI, -10.4 ถึง -3.4 วัน; p<0.001) จำนวนเฉลี่ยของวันที่มี erythema ระดับปานกลางถึงรุนแรงลดลงจาก 15.2 เป็น 8.1 วัน (95% CI, -12.5 ถึง -3.7 วัน; p<0.001) โดยอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบบ่อยที่สุด คือ ท้องผูกระดับน้อยถึงปานกลางที่เกิดขึ้น 33% อาการหน้าแดงเพิ่มขึ้นชั่วคราว 13% ท้องอืด 10% และติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน 10%[1] แสดงให้เห็นว่า erenumab ดูเหมือนจะมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการของโรคผิวหนัง rosacea อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการศึกษาทางคลินิกในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อยืนยันผลการศึกษานี้และตรวจสอบผลกระทบระยะยาวต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Wienholtz NKF, Christensen CE, Do TP, Frifelt LEW, Snellman J, Lopez-Lopez CL, et al. Erenumab for Treatment of Persistent Erythema and Flushing in Rosacea: A Nonrandomized Controlled Trial. JAMA Dermatol. 2024:e240408.
2. Christensen CE, Andersen FS, Wienholtz N, Egeberg A, Thyssen JP, Ashina M. The relationship between migraine and rosacea: Systematic review and meta-analysis. Cephalalgia. 2018; 38(7):1387-98.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
erenumab
rosacea
CGRP