การใช้ vancomycin ร่วมกับ piperacillin/tazobactam เพิ่มความเสี่ยงการเกิดไตวายเฉียบพลัน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,670 ครั้ง
ไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury; AKI) เป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ การได้รับยาที่เป็นพิษต่อไต ซึ่งมีรายงานว่า 27% ของการเกิด AKI มีสาเหตุจากการได้รับยา (drug-induced AKI)[1] หนึ่งในยาที่ทำให้เกิด AKI ได้บ่อย คือ vancomycin เนื่องจากยาเพิ่ม oxidative stress บริเวณ proximal tubule นำไปสู่ renal tubular ischemia โดยพบอุบัติการณ์อยู่ที่ 5-43%[2] และพบมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ[3,4] อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่รายงานผลในประชากร จำนวนมากเกี่ยวกับระยะเวลาที่เริ่มเกิดระดับความรุนแรง การใช้การบำบัดทดแทนไตและระยะเวลาใน การกลับมาเป็นปกติ
การศึกษาแบบ cohort study ซึ่งเก็บข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ในผู้ป่วยที่ได้รับ vancomycin ร่วมกับ piperacillin/tazobactam (VAN+PTZ) หรือ vancomycin ร่วมกับ cefepime หรือ meropenem (VAN+CEF/MER) ติดต่อกันอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยไม่รวมผู้ป่วยที่เกิด AKI ภายใน 48 ชั่วโมงแรกของการให้ยาและพิจารณาการเกิด AKI จากการเปลี่ยนแปลง serum creatinine (SCr) >0.3 mg/dL ที่ 48 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้น >1.5 เท่า เมื่อเทียบกับ baseline ตามเกณฑ์ของ KDIGO[5] จากผู้ป่วยจำนวน 3,199 ราย ในกลุ่ม VAN+PTZ เปรียบเทียบกับ VAN+CEF/MER พบอุบัติการณ์การเกิด AKI 16.4% และ 8.7% รวมทั้งใช้เวลาในการเริ่มเกิด AKI (AKI onset) 4.2 วัน และ 6.0 วัน ตามลำดับ โดยในกลุ่ม VAN+PTZ มีอัตราการเกิด AKI ระดับรุนแรง (AKI stage II, III) มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลความสัมพันธ์ทางสถิติด้วยวิธี multivariable cox regression model พบว่าการใช้ VAN+PTZ เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิด AKI มากกว่า VAN+CEF/MER (HR, 2.34, 95%CI, 1.82-3.01; p<0.001) อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มใช้ระยะเวลาในการกลับมาเป็นปกติ (AKI recovery) น้อยกว่า 3 วัน และไม่พบความแตกต่างในการเริ่มให้การบำบัดทดแทนไต (renal replacement therapy) จากข้อมูลการศึกษานี้อาจสรุปได้ว่า การใช้ VAN+PTZ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด AKI มากกว่า VAN+CEF/MER แต่ใช้เวลาในการกลับมาเป็นปกติใกล้เคียงกัน
เอกสารอ้างอิง
1. Yu C, Guo D, Yao C, et al. Clinical Characteristics of Hospitalized Patients with Drug-Induced Acute Kidney Injury and Associated Risk Factors: A Case-Control Study. Biomed Res Int. 2020; 2020:9742754.
2. Vora S. Acute renal failure due to vancomycin toxicity in the setting of unmonitored vancomycin infusion. Proc (Bayl Univ Med Cent). 2016; 29(4):412-413. doi:10.1080/ 08998280.2016.11929491.
3. Luther MK, Timbrook TT, Caffrey AR, Dosa D, Lodise TP, LaPlante KL. Vancomycin Plus Piperacillin-Tazobactam and Acute Kidney Injury in Adults: A Systematic Review and Meta-Analysis. Crit Care Med. 2018; 46(1):12-20. doi:10.1097/CCM.0000000000002769.
4. Burgess LD, Drew RH. Comparison of the incidence of vancomycin-induced nephrotoxicity in hospitalized patients with and without concomitant piperacillin-tazobactam. Pharmacotherapy. 2014; 34(7):670-676. doi:10.1002/phar.1442.
5. Palevsky PM, Liu KD, Brophy PD, et al. KDOQI US commentary on the 2012 KDIGO clinical practice guideline for acute kidney injury. Am J Kidney Dis. 2013; 61(5):649-672.doi:10. 1053/j.ajkd.2013.02.349.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
vancomycin
piperacillin/tazobactam
cefepime
meropenem
acute kidney injury
AKI