Pembrolizumab กับข้อบ่งใช้ใหม่ในโรคมะเร็งปากมดลูกระยะรุนแรง (III-IVA)
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มีนาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,882 ครั้ง
Pembrolizumab (Keytruda®) เป็นยาชีววัตถุชนิด fully humanized IgG4 monoclonal antibody ที่สามารถจับกับโปรตีน programmed cell death-1 (PD-1) บนผิวของ T-cell ได้อย่างจำเพาะ จึงมีผลขัดขวางการจับของ programmed cell death-ligand-1 (PD-L1) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของ T-cell ของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น pembrolizumab จึงทำให้ T-cell กำจัดเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น[1] (อ่านเพิ่มเติมที่ PD-1 และ PD-L1…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็ง) ในปัจจุบัน pembrolizumab ได้รับข้อบ่งใช้ในการ รักษาโรคมะเร็งมากกว่า 19 ชนิด รวมถึงมะเร็งปากมดลูกที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หรือระยะลุกลาม (unresectable or metastatic cervical cancer)[2]
เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา[3] ได้อนุมัติข้อบ่งใช้ใหม่ของ pembrolizumab ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะ III-IVA ตาม International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO) staging system ที่นิยมใช้แบ่งระยะมะเร็งปากมดลูก การอนุมัติดังกล่าวมาจากการศึกษาแบบ randomized controlled ชื่อ KEYNOTE-A18 ในผู้ป่วยเพศหญิงที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะ III-IVA จำนวน 596 ราย และระยะ IB2-IIB จำนวน 462 ราย โดยเปรียบเทียบการใช้ pembrolizumab 200 mg กับยาหลอก (placebo) ทุก 3 สัปดาห์ต่อเนื่องจำนวน 5 รอบ ควบคู่กับการรักษามาตรฐาน ได้แก่ concurrent chemoradiation therapy (cisplatin 40 mg/m2 ทุก 1 สัปดาห์ ร่วมกับ external beam radiation therapyตามด้วยการฝั่งแร่กัมมันตรังรังสี (brachytherapy) จำนวน 5 รอบ จากนั้นให้ pembrolizumab 400 mg หรือยาหลอก (placebo) ทุก 6 สัปดาห์ต่อเนื่องจำนวน 15 รอบ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มมะเร็งปากมดลูกระยะ III-IVA ที่ได้รับ pembrolizumab มีการรุดหน้าของโรคต่ำกว่ายาหลอกร้อยละ 41 [progression free survival (PFS) HR ratio 0.59, 95%CI: 0.43-0.82)] ในทางตรงกันข้าม กลุ่มมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2-IIB พบการรุดหน้าของโรคไม่แตกต่างกับยาหลอก (PFS hazard ratio 0.91, 95%CI: 0.63-1.31) ทั้งนี้ยังไม่ทราบข้อมูลด้านระยะเวลารอดชีวิต (overall survival) ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยมากกว่าร้อยละ 10 เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อ่อนเพลีย ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือสูง ท้องผูก ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด ปวดท้อง ผื่น ปวดท้องน้อย ปวดแสบขณะปัสสาวะ
เอกสารอ้างอิง
1. Qu J, Wang L, Jiang M, et al. A Review About Pembrolizumab in First-Line Treatment of Advanced NSCLC: Focus on KEYNOTE Studies. Cancer Manag Res. 2020; 12:6493-6509.
2. KEYTRUDA ® (pembrolizumab) injection, for intravenous use Initial U.S. Approval: 2014 [Internet]. Fda.gov. [cited 2024 Jan 31]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/ drugsatfda_docs/label/2024/125514s147lbl.pdf.
3. Center for Drug Evaluation, Research. FDA approves pembrolizumab with chemoradiotherapy for FIGO 2014 Stage III-IVA cervical cancer [Internet]. U.S. Food and Drug Administration. FDA; 2024 [cited 2024 Jan 31]. Available from: https://www.fda.gov/drugs/resources-information-approved-drugs/fda-approves-pembrolizumab-chemoradiotherapy-figo-2014-stage-iii-iva-cervical-cancer.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Pembrolizumab
Cervical cancer