หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Brexpiprazole ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการหงุดหงิดวุ่นวายในผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,816 ครั้ง
 
ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ในผู้ป่วยสมองเสื่อม (Behavioral and Psychological Symptoms of Dementia: BPSD) เป็นกลุ่มอาการทางจิตและประสาท (neuropsychiatric symptoms) ที่พบได้ในผู้ป่วยสมองเสื่อมรวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โดยผู้ป่วยมักแสดงอาการหงุดหงิดวุ่นวาย (agitation) ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทที่สมอง โดยเฉพาะส่วน prefrontal ที่เกี่ยวข้องกับความคิดและอารมณ์ ทำให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ เช่น มีการหลั่ง dopamine มากเกินไป รวมทั้งมีการหลั่ง serotonin น้อยเกินไปจนเกิดความไม่สมดุล ผู้ป่วยจึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ในปัจจุบันมีการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทเหล่านี้ในการบรรเทาอาการ agitation เช่น antipsychotics, acetylcholinesterase inhibitors (AChEIs), antidepressants และ anticonvulsants[1,2] อย่างไรก็ตามยังไม่มียาใดที่ได้รับข้อบ่งใช้อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA)

Brexpiprazole เป็น antipsychotics รุ่นที่สาม ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ USFDA ในปี 2015 สำหรับใช้เป็นยาเสริมในการรักษาโรคจิตเภท (schizophrenia) และโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) โดยออกฤทธิ์เป็น serotonin-dopamine activity modulator (SDAM) นั่นคือกระตุ้นตัวรับ 5-HT1A และ D2 แบบ partial agonist ดังนั้น brexpiprazole จึงทำงานเสมือนการยับยั้งตัวรับ D2 ในภาวะที่ dopamine มากเกินไป รวมทั้งกระตุ้นตัวรับ 5-HT1A ในภาวะที่ขาด serotonin ยานี้จึงช่วยลด agitation ได้[3] และล่าสุด USFDA ได้อนุมัติข้อบ่งใช้ของ brexpiprazole สำหรับรักษา agitation ในคนไข้โรคอัลไซเมอร์แล้ว โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษา (study 213) ที่พบว่าผู้ที่ได้รับ brexpiprazole ขนาด 2 หรือ 3 mg ช่วยลดอาการ agitation ได้ดีกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก[4] โดยขนาดยาของ brexpiprazole ที่แนะนำ คือรับประทาน 0.5 mg วันละครั้ง ในอาทิตย์แรก และเพิ่มขนาดเป็น 1 mg วันละครั้ง ในอาทิตย์ที่สอง จากนั้นจึงใช้ขนาด 2 mg วันละครั้ง[5]

เอกสารอ้างอิง

1. สุทิศา ปิติญาณ. คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์. 2562:9-28.

2. Pathophysiology of agitation associated with Alzheimer’s dementia: The potential role of the norepinephrine, serotonin, & dopamine (NSD) neurotransmitter systems [Internet]. PsychU. [cited 2023 May 23]. Available from: https://psychu.org/event/pathophysiology-of-agitation-associated-with-alzheimers-dementia-the-potential-role-of-the-norepinephrine-serotonin-dopamine-nsd-neurotransmitter-systems/

3. ธัญรัตน์ เกษสถิตย. เบรกซ์พิพราโซล ยาชนิดใหม่ในกลุ่มยารักษาโรคจิตรุ่นที่สาม. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาลรามาธิบดี 2565:1-18.

4. Otsuka Pharmaceutical and Lundbeck announce positive results showing reduced agitation in patients with Alzheimer’s dementia treated with brexpiprazole News Releases [Internet]. Otsuka Pharmaceutical Co., Ltd. [cited 2023 May 23]. Available from: https://www.otsuka.co.jp/en/company/newsreleases/2022/20220627_1.html.

5. Rexulti (brexpiprazole) dosing, indications, interactions, adverse effects, and more [Internet]. http://reference.medscape.com. 2023 [cited 2023 May 23]. Available from: https://reference.medscape.com/drug/rexulti-brexpiprazole-1000003.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Brexpiprazole Alzheimer ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้