หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Daprodustat ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในสหรัฐอเมริกา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,792 ครั้ง
 
ปัจจุบันยาในกลุ่ม hypoxia-inducible factor-prolyl hydroxylase inhibitors (HIFPHIs) หรือ HIF stabilizers ได้แก่ daprodustat, roxadustat และ vadadustat ได้รับทะเบียนสำหรับรักษาภาวะโลหิตจาง ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแล้วในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน[1] อย่างไรก็ตาม daprodustat เป็นยาตัวแรกในกลุ่มนี้ที่ได้รับทะเบียนจากคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) สำหรับข้อบ่งใช้รักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต (dialysis) อย่างน้อย 4 เดือน[2] โดยข้อมูลประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของ daprodustat ซึ่งใช้ในการขึ้นทะเบียนอ้างอิงจากการศึกษา ASCEND-D trial randomized, open-label, phase 3 trial[3] ที่ตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine (NEJM) ซึ่งศึกษาในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต และมีค่าระดับฮีโมโกลบินอยู่ที่ 8.0-11.5 g/dL แบ่งการรักษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยารับประทาน daprodustat เปรียบเทียบกับยาฉีดกลุ่ม erythropoiesis-stimulating agent (ESAs) ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพในการเพิ่มระดับฮีโมโกลบิน และความปลอดภัยในการเกิดเหตุการณ์ชนิดรุนแรงจากสาเหตุหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มที่ได้รับ daprodustat ไม่แตกต่างจาก ESAs

ก่อนหน้านี้การรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตามคำแนะนำจาก KDIGO Clinical practice guideline for anemia in CKD 2012[4] ประกอบด้วย การเสริมธาตุเหล็ก (iron replacement), ESAs และ/หรือการให้เลือด (blood transfusion) ซึ่งพบรายงานปัญหาจากการใช้ยากลุ่มมาตรฐาน[5] เช่น ไม่ตอบ สนองต่อยา หรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียง ดังนั้น daprodustat จึงถือเป็นยาทางเลือกใหม่สำหรับรักษา ภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีปัญหาจากการใช้ยาในกลุ่มมาตรฐาน สำหรับขนาดยาของ daprodustat ที่แนะนำสำหรับรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยคำแนะนำจะแตกต่างกันออกไปตามค่าระดับฮีโมโกลบิน และการเคยใช้หรือไม่เคยใช้ยา ESA โดยขนาดยาที่มีจำหน่ายประกอบด้วย 1, 2, 4, 6 และ 8 mg แนะนำรับประทานวันละหนึ่งครั้ง[6]

เอกสารอ้างอิง

1. Babitt JL, Eisenga MF, Haase VH, Kshirsagar AV, Levin A, Locatelli F, et al. Controversies in optimal anemia management: conclusions from a kidney disease: improving global outcomes (Kdigo) conference. Kidney International. 2021; 99(6):1280-95.

2. FDA approves daprodustat for anemia from CKD in adult dialysis patients [Internet]. AJMC. 2023 [cited 2023 May 5]. Available from: https://www.ajmc.com/view/fda-approves-daprodustat-for-anemia-from-ckd-in-adult-dialysis-patients.

3. Singh AK, Carroll K, Perkovic V, Solomon S, Jha V, Johansen KL, et al. Daprodustat for the treatment of anemia in patients undergoing dialysis. N Engl J Med. 2021 Dec 16; 385(25):2325-35.

4. KDIGO Clinical Practice Guideline for Anemia in Chronic Kidney Disease. Kidney Int Suppl. 2012; 2(4):288-335.

5. Fishbane S, Brunton S. Improving Detection and Management of Anemia in CKD. J Fam Pract. 2022; 71(6 Suppl):S23-s8.

6. Jesduvroq [package insert]. Durham (NC): GSK; 2023.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
daprodustat HIF stabilizers โลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้