หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fezolinetant ยาใหม่สำหรับรักษาอาการร้อนวูบวาบในสตรีวัยหมดประจำเดือน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน กรกฎาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,395 ครั้ง
 
อาการของสตรีวัยหมดประจำเดือนที่สามารถพบได้บ่อยทั้งในช่วงก่อนเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนหรือเกิดหลังหมดประจำเดือน ได้แก่ vasomotor symptoms (VMS) โดยมักมีอาการร้อนวูบวาบ (hot flushes) ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น เหงื่อออกโดยเฉพาะช่วงกลางคืน หนาวสั่น วิตกกังวล ใจสั่น นอกจากนั้นอาจเกิดปัญหาทางระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอดแห้ง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตได้[1] สำหรับ hormone replacement therapy (HRT) เป็นการรักษามาตรฐานสำหรับลด VMS ของสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการใช้ HRT เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็งเต้านม[2] ดังนั้นจึงเกิดการพัฒนายาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนออกมาเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษา VMS โดยก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุมัติให้ใช้ paroxetine ซึ่งเป็นยาต้านอาการซึมเศร้ากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) สำหรับรักษา VMS ได้

ล่าสุด fezolinetant กลายเป็นยาตัวแรกของกลุ่ม neurokinin 3 (NK3) receptor antagonist ที่ได้รับอนุมัติจาก USFDA สำหรับใช้ในการรักษา VMS ระดับปานกลางถึงรุนแรง โดย fezolinetant ออกฤทธิ์ยับยั้ง NK3 receptor จึงส่งผลยับยั้งการส่งสัญญาณที่กระตุ้นการทำงานของศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นพยาธิสรีรวิทยาหลักของ VMS[3] โดยข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ fezolinetant ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนอ้างอิงจากการศึกษา SKYLIGHT 2[4] ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism ซึ่งศึกษาในผู้หญิงอายุ 40-65 ปี ที่มีอาการ VMS ระดับปานกลางถึงรุนแรง อย่างน้อย 7 ครั้งต่อวัน โดยแบ่งการรักษาเป็น fezolinetant 30, 45 mg และยาหลอก ผลพบว่าที่อาทิตย์ที่ 4 และ 12 ยาทั้งสองขนาดสามารถลดความถี่และความรุนแรงของ VMS ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งไม่พบผลข้างเคียงที่แตกต่างจากยาหลอก

เอกสารอ้างอิง

1.รู้เท่าทันการใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน [Internet]. Mahidol.ac.th. [cited 2023 May 14]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/535.

2.Hofmann JL, Covino J. Treatment of menopausal symptoms [Internet]. Pharmacy Times. 2018 [cited 2023 May 14]. Available from: https://www.pharmacytimes.com/ view/treatment-of-menopausal-symptoms.

3.Santoro N, Waldbaum A, Lederman S, Kroll R, Fraser GL, Lademacher C, et al. Effect of the neurokinin 3 receptor antagonist fezolinetant on patient-reported outcomes in postmenopausal women with vasomotor symptoms: results of a randomized, placebo-controlled, double-blind, dose-ranging study (VESTA). Menopause. 2020; 27 (12):1350-6.

4.Johnson KA, Martin N, Nappi RE, Neal-Perry G, Shapiro M, Stute P, et al. Efficacy and Safety of Fezolinetant in Moderate-to-Severe Vasomotor Symptoms Associated with Menopause: A Phase 3 RCT. J Clin Endocrinol Metab. 2023.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fezolinetant vasomotor symptoms ร้อนวูบวาบ สตรีวัยหมดประจำเดือน
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้