หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Spesolimab…ยาใหม่สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน (ชนิด generalized pustular psoriasis)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กันยายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 2,965 ครั้ง
 
โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งและเป็นโรคภูมิต้านตนเอง มีปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แบ่งย่อยเป็นหลายรูปแบบหรือหลายชนิด ได้แก่ plaque psoriasis (พบมากที่สุด), guttate psoriasis, inverse psoriasis, erythrodermic psoriasis และ pustular psoriasis ซึ่ง 4 ชนิดแรกเป็นผื่นที่ไม่มีตุ่มหนอง โรคสะเกิดเงินเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบ (psoriatic arthritis), lymphoma, โรคหัวใจและหลอดเลือด, Crohn’s disease และโรคซึมเศร้า แม้มียาหลายอย่างที่นำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินซึ่งมีทั้งยาใช้ภายนอก ยารับประทานและยาฉีด แต่ยังไม่อาจรักษาโรคให้หายขาด การคิดค้นยารักษาโรคสะเก็ดเงินที่มีกลไกการออกฤทธิ์ใหม่ ๆ ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis) เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาชนิดใหม่ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ คือ spesolimab (ชื่ออื่น: spesolimab-sbzo) ยานี้ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นตุ่มหนองที่เกิดแบบกระจาย (generalized pustular psoriasis) และมีอาการกำเริบในผู้ใหญ่ ซึ่ง generalized pustular psoriasis แม้จะพบน้อยแต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

Spesolimab เป็น humanized monoclonal IgG1 antibody ที่จับจำเพาะกับ interleukin-36 receptor (IL-36R) ซึ่ง IL-36 เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคภูมิต้านตนเองหลายอย่างรวมถึง generalized pustular psoriasis ผลิตในรูปยาน้ำใสหรือออกเหลือบ ไม่มีสีหรือสีออกเหลืองเล็กน้อย สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว ปริมาตร 7.5 มิลลิลิตร มีตัวยา 450 มิลลิกรัม (60 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร) ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่คือ 900 มิลลิกรัม ให้ครั้งเดียว โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำนาน 90 นาที หากอาการกำเริบยังอยู่อาจให้ยาขนาดเดิมซ้ำอีกครั้งห่างจากครั้งแรก 1 สัปดาห์

การศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็นแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled study จำนวน 1 การศึกษา ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ (อายุ 21-69 ปี) ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิด generalized pustular psoriasis และมีอาการกำเริบขั้นปานกลางถึงรุนแรง เมื่อประเมินด้วย Generalized Pustular Psoriasis Physician Global Assessment (GPPPGA) มีคะแนนไม่น้อยกว่า 3 คะแนน ซึ่ง GPPPGA score มีคะแนนตั้งแต่ from 0 (ไม่มีอาการ) ถึง 4 (ขั้นรุนแรง) ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการศึกษาต้องหยุดใช้ยารักษา generalized pustular psoriasis ที่ใช้อยู่ก่อนไม่ว่าจะเป็นยาที่ใช้ภายนอกหรือยาที่ให้เข้าระบบร่างกาย แบ่งผู้ป่วย 53 คนแบบ 2:1 เพื่อให้ spesolimab ในขนาด 900 มิลลิกรัม (n=35) หรือยาหลอก (n=18) โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำนาน 90 นาที ประเมินผลด้วย GPPPGA pustulation sub score เท่ากับ 0 (ไม่พบหนอง) ในสัปดาห์ที่ 1 หลังได้รับยาหรือยาหลอก ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ spesolimab มี 19 คน (54%) และกลุ่มยาหลอกมี 1 คน (6%) ค่า risk difference เท่ากับ 49% (95% CI=21-67) สำหรับผู้ที่อาการกำเริบยังคงมีอยู่ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มที่รับ spesolimab (จำนวน 12 คน คิดเป็น 34% จาก 35 คน) หรือกลุ่มยาหลอก (จำนวน 15 คน คิดเป็น 83% จาก 19 คน) จะได้รับ spesolimab ในขนาด 900 มิลลิกรัม เป็นการได้รับยาครั้งที่ 2 สำหรับผู้ที่เคยได้รับยามาแล้วและเป็นการได้รับยาครั้งแรกสำหรับผู้ที่เดิมอยู่ในกลุ่มยาหลอก เมื่อประเมินผลใน 1 สัปดาห์ต่อมาพบว่าในผู้ที่เคยได้รับยามาแล้ว (เป็นผลของสัปดาห์ที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มต้น หรือ 1 สัปดาห์หลังจากได้รับยาครั้งที่ 2) จำนวนผู้ป่วยที่มี GPPPGA pustulation sub score เท่ากับ 0 มี 5 คน (42%) อย่างไรก็ตามผลการให้ยาครั้งที่ 2 ไม่ได้นำไปคิดค่า risk difference เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนน้อย สำหรับผลไม่พึงประสงค์ของ spesolimab ที่พบบ่อยที่สุด (≥5%) ได้แก่ อาการอ่อนแรงและล้า, คลื่นไส้และอาเจียน, ปวดศีรษะ, คันและตุ่มคัน, ห้อเลือดและฟกช้ำตรงตำแหน่งที่ให้ยา และติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

อ้างอิงจาก:

(1) Spevigo (spesolimab-sbzo) injection, for intravenous use. Reference ID: 5039554, revised: 09/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/761244s000lbl.pdf; (2) Iznardo H, Puig L. Exploring the role of IL-36 cytokines as a new target in psoriatic disease. Int J Mol Sci 2021. doi: 10.3390/ijms22094344; (3) Baum P, Visvanathan S, Garcet S, Roy J, Schmid R, Bossert S, et al. Pustular psoriasis: molecular pathways and effects of spesolimab in generalized pustular psoriasis. J Allergy Clin Immunol 2022;149:1402-12.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้