หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Lutetium-177 vipivotide tetraxetan…prostate-specific membrane antigen (PSMA)-targeted radiopharmaceutical สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,987 ครั้ง
 
เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากมี prostate-specific membrane antigen (PSMA) เป็น transmembrane protein marker ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ยา lutetium (Lu)-177 vipivotide tetraxetan ประกอบด้วย vipivotide tetraxetan (PSMA-617) ซึ่งเป็น PSMA ligand ที่มี vipivotide จับกับ tetraxetan ซึ่งทำหน้าที่เป็น chelating agent สำหรับจับกับสารกัมมันตรังสี Lu 177 สารนี้ปล่อยรังสีเบตาทำให้เซลล์มะเร็งรวมทั้งเซลล์ข้างเคียงเกิดมี DNA damage และทำให้เซลล์ตาย ด้วยเหตุนี้ Lu 177 vipivotide tetraxetan จึงเป็น radioligand therapeutic agent ชนิดแรกที่มี PSMA เป็นเป้าหมาย เมื่อไม่นานมานี้ยาดังกล่าวได้รับข้อบ่งใช้ในบางประเทศสำหรับใช้ในผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่พบ PSMA โดยโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายแม้ได้รับการรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชายและเป็นผู้ที่ได้รับการรักษาด้วย androgen receptor pathway inhibitor และ taxane-based chemotherapy ยาดังกล่าวผลิตในรูปยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ความแรง 1,000 MBq/มิลลิลิตร (27 mCi/มิลลิลิตร) บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียวปริมาตร 7.5-12.5 มิลลิลิตร เพื่อให้มีสารกัมมันตรังสีเพียงพอสำหรับการให้ในขนาดยาที่แนะนำ คือ 7.4 GBq (200 mCi) ให้ทุก 6 สัปดาห์จนครบ 6 ครั้ง หยุดใช้ก่อนครบกำหนดหากโรคลุกลาม (ยาใช้ไม่ได้ผล) หรือทนต่ออาการพิษไม่ได้

มีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 มาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้น เป็น randomized (2:1), multicenter, open-label trial ในผู้ชายอายุ 40-94 ปีที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่พบ PSMA และโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายแม้ได้รับการรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชายโดยให้ GnRH analog หรือการตัดอัณฑะออกทั้งสองข้าง ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วย androgen receptor pathway inhibitor อย่างน้อย 1 แผนการรักษาและได้รับ taxane-based chemotherapy มา 1 หรือ 2 แผนการรักษา ให้ยา Lu 177 vipivotide tetraxetan ในขนาด 7.4 GBq (200 mCi) ทุก 6 สัปดาห์ ร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐาน (n=551) หรือได้รับการรักษาแบบมาตรฐานอย่างเดียว (โดยรวมถึงการรักษาเหล่านี้ ketoconazole, radiation therapy เพื่อจำกัดการแพร่กระจายของก้อนมะเร็ง, bone-targeted agents, androgen-reducing agents, androgen receptor pathway inhibitors) (n=280) ผู้ป่วยได้รับยา 4-6 โดส หรือจนโรคลุกลามหรือทนต่ออาการพิษไม่ได้ ประเมินผลด้วย overall survival (OS) และ radiographic progression-free survival (rPFS) นอกจากนี้ยังประเมินผลเพิ่มเติมด้วย overall response rate (ORR) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐานมีค่า OS และ rPFS ต่างจากกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบมาตรฐานอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่ง OS ที่ค่ากลาง 15.3 เดือนในกลุ่มที่ได้รับยาร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐาน และ 11.3 เดือนในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบมาตรฐานอย่างเดียว มีค่า hazard ratio เท่ากับ 0.62 (95% CI=0.52-0.74) ส่วน rPFS เท่ากับ 8.7 เดือนในกลุ่มที่ได้รับยาร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐาน และ 3.4 เดือนในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบมาตรฐานอย่างเดียว (กลุ่มนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากออกจากการศึกษาไปก่อน) ส่วน ORR ในกลุ่มที่ได้รับยาร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐานเท่ากับ 30% (คิดจาก 319 คนที่มีข้อมูลเริ่มแรก) เทียบกับ 2% (คิดจาก 120 คนที่มีข้อมูลเริ่มแรก) ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบมาตรฐานอย่างเดียว สำหรับผลไม่พึงประสงค์ของ Lu 177 vipivotide tetraxetan ที่พบบ่อยที่สุด (≥20%) ได้แก่ อ่อนล้า ปากแห้ง คลื่นไส้ โลหิตจาง ความอยากอาหารลดลง และท้องผูก ส่วนผลทางห้องปฏิบัติการที่พบบ่อย (≥30%) ได้แก่ การลดลงของ ลิมโฟไซต์ ฮีโมโกลบิน เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด แคลเซียม และโซเดียม

อ้างอิงจาก:

(1) Pluvicto (lutetium Lu 177 vipivotide tetraxetan) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4957021, revised: 03/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/215833s000lbl.pdf; (2) Sartor O, de Bono J, Chi KN, Fizazi K, Herrmann K, Rahbar K, et al. Lutetium-177-PSMA-617 for metastatic castration-resistant prostate cancer. N Engl J Med 2021;385:1091-103; (3) Chandran E, Figg WD, Madan R. Lutetium-177-PSMA-617: a vision of the future. Cancer Biol Ther 2022;23:186-90.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้