หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ACE inhibitors และ angiotensin II receptor blockers: ความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเปรียบเทียบกับ dihydropyridine CCBs

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2564 -- อ่านแล้ว 1,943 ครั้ง
 

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (acute pancreatitis) เกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วในทางเดินน้ำดีและการดื่มสุรามาก สาเหตุจากยาพบได้น้อย มียาหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ เช่น thiazide diuretics, immunotherapy agents, statins, non-steroidal anti-inflammatory drugs ผู้ป่วยที่เกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการปวดท้องรุนแรงฉับพลันหรือเริ่มเกิดมาแล้ว 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีไข้ และค่าทางห้องปฏิบัติการพบระดับเอนไซม์ amylase และ lipase สูงมาก ในรายที่เกิดรุนแรงมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ข้อมูลที่เกี่ยวกับยายับยั้ง renin-angiotensin-aldosterone system (RAAS) กับความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันยังมีจำกัด ส่วนใหญ่เป็น case reports และถึงแม้จะมี observational studies อยู่บ้างแต่มีจำนวนตัวอย่างไม่มาก ซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่บ้างแล้วนั้นพบว่า angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้ ในขณะที่ angiotensin II receptor blockers (ARBs) บางการศึกษากลับพบว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา จึงมีผู้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากและได้รายงานผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นการศึกษาแบบ population-based, active comparator cohort ในผู้ป่วยที่เริ่มใช้ยาที่ทำการศึกษานั้น (new-user) เพื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์ของตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors และ ARBs เปรียบเทียบกับ dihydropyridine calcium channel blockers (dCCBs) เหตุที่ศึกษาเปรียบเทียบกับ dCCBs ส่วนหนึ่งเพื่อลด confounding bias จากข้อบ่งใช้ (dCCBs และ RAAS inhibitors มีข้อบ่งใช้ที่คล้ายกัน) การศึกษานี้ประกอบด้วย 2 ศึกษาย่อยคือ การศึกษาที่ 1 เปรียบเทียบการใช้ ACE inhibitors (304,083 คน) กับ dCCBs (194,431 คน) และการศึกษาที่ 2 เปรียบเทียบการใช้ ARBs (29,160 คน) กับ dCCBs (203,610 คน) ผลการศึกษาพบว่าการใช้ ACE inhibitors มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันมากกว่า dCCBs (64.3 vs 45.2 per 100,000 person-years; HR=1.45, 95% CI=1.15-1.83) ส่วนความสัมพันธ์ของการใช้ ARBs กับความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเมื่อเทียบกับการใช้ dCCBs แล้วไม่มีความแตกต่างกัน (40.1 vs 47.6 per 100,000 person-years; HR=0.88, 95% CI=0.60-1.31) อุบัติการณ์สะสม (weighted cumulative incidence) ของตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันในกลุ่มต่าง ๆ ดังแสดงในรูป

อ้างอิงจาก:

(1) Rouette J, Yin H, McDonald EG, Barkun A, Azoulay L. Renin-angiotensin-aldosterone system inhibitors and risk of acute pancreatitis: a population-based cohort study. Drug Saf 2021. doi: 10.1007/s40264-021-01128-1; (2) Hussain MS, Deliwala SS, Ponnapalli A, Modi V, Kanugula A, Elbedawi MM, et al. Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors and pancreatitis: a potential dose-dependent relationship. Eur J Case Rep Intern Med 2020. doi: 10.12890/2020_001956; (3) Bexelius TS, Ljung R, Mattsson F, Lu Y, Lindblad M. Angiotensin II receptor blockers and risk of acute pancreatitis - a population based case-control study in Sweden. BMC Gastroenterol 2017. doi: 10.1186/s12876-017-0595-8.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้