Monoclonal antibodies (eculizumab, inebilizumab และ satralizumab)...ยาใหม่สำหรับรักษาโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบชนิด neuromyelitis optica spectrum disorders
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 2,674 ครั้ง
โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลางที่พบบ่อย ได้แก่ multiple sclerosis และ neuromyelitis optica spectrum disorders (NMOSD) ซึ่งมีชื่ออื่นคือ neuromyelitis optica และ Devic’s disease แม้ว่า NMOSD พบน้อยแต่มีอันตรายมาก เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง ความผิดปกติส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทตา (optic neuritis) และไขสันหลัง (myelitis) โรคนี้ทำให้ตาบอดได้ (อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้าง) แขนและขาอ่อนแรง (อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้าง) สูญเสียการรับความรู้สึก การทำงานของระบบขับถ่ายผิดปกติ และมีความผิดปกติอื่นอีกหลายอย่างอันเนื่องจากไขสันหลังเสียหาย การฟื้นตัวจากโรคเกิดขึ้นได้แต่ไม่สมบูรณ์ ราว 3 ใน 4 ของผู้ป่วยหรือมากกว่านี้พบแอนติบอดีต่อ aquaporin-4 (AQP4) ซึ่ง AQP4 เป็น water channel พบได้ที่สมอง ไขสันหลังและเส้นประสาทตา (optic nerve) ผู้ป่วยโรคนี้ตรวจพบระดับ interleukin-6 (IL-6) ในน้ำไขสันหลังเพิ่มขึ้น ยาที่ใช้รักษา NMOSD เป็นยากดภูมิคุ้มกันและยาลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง glucocorticoids ใช้ลดอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้น ส่วนยาอื่นที่นำมาใช้รักษาโรคนี้ เช่น azathioprine, methotrexate, mycophenolate mofetil, rituximab, tocilizumab ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้มีข้อบ่งใช้เฉพาะในการรักษาโรคดังกล่าว จนเมื่อไม่นานมานี้มียาในกลุ่ม monoclonal antibodies ที่ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษา NMOSD ในผู้ใหญ่ที่ตรวจพบ anti-AQP4 antibody ในซีรัม (ตามผลการศึกษาทางคลินิกที่พบว่ายาใช้ได้ผลเฉพาะผู้ป่วยที่พบแอนติบอดีดังกล่าว) ได้แก่ eculizumab (มีจำหน่ายนานแล้วในข้อบ่งใช้อื่น), inebilizumab และ satralizumab อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มียาใดรักษา NMOSD ให้หายขาด
Eculizumab เป็น humanized monoclonal IgG2/4 kappa antibody มีใช้มานานกว่า 10 ปีในข้อบ่งใช้สำหรับรักษา paroxysmal nocturnal hemoglobinuria ต่อมาได้รับข้อบ่งใช้เพิ่มเติมสำหรับรักษา hemolytic uremic syndrome, myasthenia gravis และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับข้อบ่งใช้เพื่อรักษา NMOSD ในผู้ใหญ่ที่ตรวจพบ anti-AQP4 antibody ยานี้ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ complement protein C5 จึงไม่แตกออกเป็น C5a และ C5b ด้วยเหตุนี้จึงไม่เกิด complement C5b-9 deposition เมื่อมี AQP4 antibody มากระตุ้น ซึ่งการเกิด C5b-9 deposition ทำเซลล์เสียหายและตายได้ eculizumab ผลิตในรูปยาน้ำใส บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับใช้ครั้งเดียว ปริมาตร 30 มิลลิตร มีตัวยา 300 มิลลิกรัม สำหรับหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดยาที่แนะนำคือ เริ่มด้วย 900 มิลลิกรัม ทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นสัปดาห์ต่อมาให้ขนาด 1,200 มิลลิกรัม หลังจากนั้นให้ขนาด 1,200 มิลลิกรัม ทุก 2 สัปดาห์ ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด (≥10%) ได้แก่ การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อจมูกและคออักเสบ ท้องเดิน ปวดหลัง เวียนศีรษะ โรคไข้หวัดใหญ่ ปวดข้อ คออักเสบ และสับสน
Inebilizumab (ชื่ออื่น: inebilizumab-cdon) เป็น humanized IgG1 monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับ CD19 บน B lymphocytes ทำให้เกิด antibody-dependent cellular cytolysis จึงลดจำนวน B lymphocytes ยานี้ได้รับข้อบ่งใช้เพื่อรักษา NMOSD ในผู้ใหญ่ที่ตรวจพบ anti-AQP4 antibody ผลิตในรูปยาน้ำใสหรือสีออกเหลือบเล็กน้อย (opalescent) บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับใช้ครั้งเดียว ปริมาตร 10 มิลลิตร มีตัวยา 100 มิลลิกรัม สำหรับหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดยาที่แนะนำคือ ให้ครั้งแรก 300 มิลลิกรัม จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ตามด้วยขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้นให้ครั้งละ 300 มิลลิกรัม ทุก 6 เดือน โดยนับจากให้ครั้งแรก ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด (≥10%) ได้แก่ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและอาการปวดข้อ
Satralizumab (ชื่ออื่น: satralizumab-mwge, sapelizumab) เป็น humanized IgG2 monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับ IL-6 receptor จึงขัดขวางการออกฤทธิ์ของ IL-6 ยานี้ได้รับข้อบ่งใช้เพื่อรักษา NMOSD ในผู้ใหญ่ที่ตรวจพบ anti-AQP4 antibody ผลิตในรูปยาน้ำใส บรรจุในกระบอกฉีดยาพร้อมใช้สำหรับให้ครั้งเดียว (single-dose prefilled syringe) มีตัวยา 120 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาดที่แนะนำคือ 120 มิลลิกรัม ในสัปดาห์ที่ 0, 2 และ 4 หลังจากนั้นให้ขนาด 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด (≥15%) ได้แก่ เยื่อจมูกและคออักเสบ ปวดศีรษะ การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน กระเพาะอาหารอักเสบ ผื่นขึ้น ปวดข้อ ปวดแขนและขา อ่อนล้า และคลื่นไส้
อ้างอิงจาก:
(1) Glisson CC. Neuromyelitis optica spectrum disorders. https://www.uptodate.com/contents/neuromyelitis-optica-spectrum-disorders; (2) Frampton JE. Eculizumab: a review in neuromyelitis optica spectrum disorder. Drugs 2020;80:719-27; (3) Soliris (eculizumab) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4454988, revised: 06/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/125166s431lbl.pdf; (4) Uplizna (inebilizumab-cdon) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4623153, revised: 06/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/761142s000lbl.pdf; (5) Enspryng (satralizumab-mwge) injection, for subcutaneous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4657149, revised: 08/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/761149s000lbl.pdf