Meropenem/vaborbactam…ยาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤษภาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 94,915 ครั้ง
Meropenem เป็นยาต้านแบคทีเรียที่มี β-lactam ring อยู่ในโครงสร้าง (beta-lactam antibacterial) จัดอยู่ในกลุ่ม carbapenems ยาสามารถแทรกเข้าในผนังเซลล์ของแบคทีเรียส่วนใหญ่ทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ ยาจับกับ penicillin-binding protein และออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ ปัญหาสำคัญของการใช้ยากลุ่ม β-lactams คือการดื้อยาของแบคทีเรีย เนื่องจากแบคทีเรียสร้างเอนไซม์ β-lactamases (β-lactam-hydrolyzing enzymes) มาสลายโครงสร้างที่เป็น β-lactam ring ซึ่ง meropenem สามารถทนต่อ β-lactamases ส่วนใหญ่ที่สร้างโดยแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบได้ ไม่ว่าจะเป็น penicillinases หรือ cephalosporinases ยกเว้น carbapenem hydrolyzing β-lactamases ที่ผ่านมามียาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เหล่านี้ (β-lactamase inhibitors) ออกวางจำหน่ายแล้วหลายชนิด โดยทำเป็นยาสูตรผสมรวมกับยาต้านแบคทีเรียในกลุ่ม β-lactams (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง “Beta-lactamase inhibitors… ชนิดใหม่” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2561 ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1456) สำหรับ vaborbactam เป็น β-lactamase inhibitor ชนิดใหม่ที่วางจำหน่ายในบางประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ โดยทำเป็นยาสูตรผสม meropenem/vaborbactam โครงสร้างของ vaborbactam มีส่วนที่เป็น cyclic boronic acid แต่ไม่มี β-lactam backbone ออกฤทธิ์เป็น non-suicidal β-lactamase inhibitor ครอบคลุม serine β-lactamases หลายชนิดรวมถึง Klebsiella pneumoniae carbapenemase จึงช่วยป้องกัน meropenem จากการถูกทำลายโดยเอนไซม์ดังกล่าว vaborbactam ไม่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและไม่รบกวนฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของ meropenem
Meropenem/vaborbactam ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่ซับซ้อน (complicated urinary tract infections) รวมถึงไตและกรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) ที่เกิดจากแบคทีเรียที่ไวต่อยา ได้แก่ Escherichia coli, Klebsiella pneumoniae และ Enterobacter cloacae species complex ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาผงปราศจากเชื้อ มีตัวยา meropenem 1 กรัม และ vaborbactam 1 กรัม บรรจุในขวดยาฉีดขนาด 50 มิลลิลิตร ก่อนใช้ให้ละลายและเจือจางยาด้วย 0.9% Sodium Chloride Injection USP ก่อนให้เข้าหลอดเลือดดำ ขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีอัตราการกรองของกลอเมอรูลัส (estimated glomerular filtration rate; eGFR) เท่ากับหรือมากกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร คือ 4 กรัม (meropenem 2 กรัม และ vaborbactam 2 กรัม) หยดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ใช้เวลาให้ยาแต่ละครั้งนาน 3 ชั่วโมง ให้ยาทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน ปรับขนาดยาลดลงในผู้ที่มี eGFR น้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร
การที่ meropenem/vaborbactam ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้ข้างต้น เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 มาสนับสนุน เป็น multi-center, randomized, double-blind, double-dummy trial เปรียบเทียบยาดังกล่าวกับ piperacillin/tazobactam ในการรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะที่ซับซ้อน รวมถึงไตและกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน โดยศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่จำนวน 545 คน แบ่ง เป็น 2 กลุ่ม เท่าๆ กัน (1:1) เพื่อให้ meropenem/vaborbactam (meropenem 2 กรัม และ vaborbactam 2 กรัม) หยดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ใช้เวลานาน 3 ชั่วโมง ให้ยาทุก 8 ชั่วโมง หรือ piperacillin/tazobactam (piperacillin 4 กรัม และ tazobactam 500 มิลลิกรัม) หยดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ใช้เวลานาน 30 นาที ให้ยาทุก 8 ชั่วโมง ภายหลังได้รับยาไปแล้วไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มสามารถเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่นที่ให้โดยการรับประทานได้ เช่น levofloxacin ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับยาทางหลอดเลือดดำโดยเฉลี่ยเท่ากับ 8 วัน หากนับเวลาที่ได้รับยาโดยการรับประทานด้วยได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10 วัน สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดก่อนเข้ารับการรักษาจะได้รับยานานถึง 14 วัน ประเมินผลโดยดู overall success ทั้งด้านคลินิก (หายจากโรคหรือดีขึ้น) และด้านการกำจัดเชื้อ (จำนวนแบคทีเรียลดลงจากเดิมจนเหลือน้อยกว่า 10(4) CFU/มิลลิลิตร) พบว่า overall success (คิดจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา) ในกลุ่มที่ได้รับ meropenem/vaborbactam เท่ากับ 98.4% (183/186 คน) และในกลุ่มที่ได้รับ piperacillin/tazobactam เท่ากับ 94.3% (165/175 คน) ค่าความแตกต่างเท่ากับ 4.1% (95% CI เท่ากับ 0.3% to 8.8%) อาการไม่พึงประสงค์ของ meropenem/vaborbactam ที่อาจพบ เช่น ปวดศีรษะ หลอดเลือดบริเวณที่ให้ยาอักเสบ ท้องเดิน
อ้างอิงจาก
(1) Lee YR, Baker NT. Meropenem-vaborbactam: a carbapenem and beta-lactamase inhibitor with activity against carbapenem-resistant Enterobacteriaceae. Eur J Clin Microbiol Infect Dis 2018. doi: 10.1007/s10096-018-3260-4; (2) Jorgensen SCJ, Rybak MJ. Meropenem and vaborbactam: stepping up the battle against carbapenem-resistant Enterobacteriaceae. Pharmacotherapy 2018;38:444-61; (3) Meropenem/vaborbactam. https://www.rxlist.com/vabomere-drug.htm.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
meropenem
ยาต้านแบคทีเรีย
β-lactam ring
beta-lactam antibacterial
carbapenems
penicillin-binding protein
การดื้อยา
β-lactams
β-lactamases
β-lactam-hydrolyzing enzymes
penicillinases
cephalosporinases
carbapenem hydroly