หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Chimeric antigen receptor (CAR) T cells…“living drugs” จุดเปลี่ยนของการรักษาโรคมะเร็ง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มีนาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 17,009 ครั้ง
 

การรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี มีทั้งการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด (chemotherapy) และการใช้รังสีรักษา (radiotherapy) เมื่อหลายปีมานี้ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) โดยการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ โดยอาศัยการทำงานของ T cells ซึ่ง T cells เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ มีตัวรับ (T cell receptor หรือ TCR) ที่สามารถจดจำและจับได้กับแอนติเจนที่จำเพาะ ดังนั้นหากมีการกระตุ้นให้ T cells มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและให้มีการแสดงออกของตัวรับที่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ด้วยแนวคิดนี้ร่วมกับการใช้วิธีการ adoptive cell transfer (การนำ T cells จากผู้ป่วยมาเข้าสู่กรรมวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงจากนั้นนำกลับไปให้กับผู้ป่วย) ปัจจุบันได้นำมาใช้ผลิต T cells ที่มี TCR จับจำเพาะได้กับโปรตีน CD19 ซึ่ง CD19 เป็นโปรตีนที่พบได้มากบน B cells ที่เป็นมะเร็ง (แม้พบบน B cells ปกติได้ด้วย) โดยเริ่มจากการผลิต TCR ที่มีลักษณะเป็นโปรตีนลูกผสม (chimeric antigen receptor หรือ CAR) ซึ่งตรง extracellular CAR region มีส่วนที่เป็น antibody fragment ที่เจาะจงต่อโปรตีน CD19 จากนั้นนำ T cells ของผู้ป่วยเอง (autologous T cells) ที่แยกจากเลือดโดยวิธีการ leukapheresis (ดูรูป) หลังจากผ่านขั้นตอนการกระตุ้น T cells ด้วย antibody-coated beads (anti-CD3 หรือ anti-CD3/anti-CD28 beads) แล้ว จากนั้นด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) โดยอาศัยไวรัส (อาจใช้วิธีอื่นแต่ขณะนี้ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ) ช่วยในการใส่ CAR-encoding gene ให้ T cells เพื่อให้มีการแสดงออกของ CARs ที่เจาะจงต่อโปรตีน CD19 (CD19-CAR T cells) จากนั้นทำการเพิ่มจำนวน CD19-CAR T cells ให้เพียงพอเพื่อนำกลับไปใช้เป็นยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งก่อนให้ CD19-CAR T cells นี้ผู้ป่วยต้องได้รับยาลด T cells ในร่างกาย (lymphodepletion chemotherapy) ป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านยาและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพยา เมื่อ CD19-CAR T cells อยู่ในร่างกายจะทำหน้าที่เป็น “living drugs” ที่ฆ่าเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีน CD-19 บนผิวเซลล์ อย่างไรก็ตาม การให้ CD19-CAR T cells จะทำอันตรายต่อเซลล์ปกติที่มีการแสดงออกของโปรตีน CD-19 ได้ด้วย อีกทั้งยังทำให้เกิด overproduction ของ inflammatory cytokines ด้วยเหตุนี้จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นพิษต่อระบบประสาท (neurological toxicities) และ cytokine release syndrome ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ปัจจุบัน CD19-CAR T cells ที่ผลิตออกใช้แล้วได้แก่ tisagenlecleucel และ axicabtagene ciloleucel ชนิดแรกใช้รักษา acute lymphoblastic leukemia (ALL) ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มี CD19 บน B cells พบมากในเด็ก ส่วนชนิดหลังใช้รักษา B-cell non-Hodgkin lymphoma (B-NHL) ในผู้ใหญ่

อ้างอิงจาก

(1) Hay KA, Turtle CJ. Chimeric antigen receptor (CAR) T cells: lessons learned from targeting of CD19 in B cell malignancies. Drugs 2017;77: 237-45; (2) Makita S, Yoshimura K, Tobinai K. Clinical development of anti-CD19 chimeric antigen receptor T-cell therapy for B-cell non-Hodgkin lymphoma. Cancer Sci 2017;108:1109-18; (3) FDA approves first CAR T-cell therapy – the evolution of CAR T-cell therapy. http://cellculturedish.com/2017/10/fda-approves-first-car-t-cell-therapy-evolution-car-t-cell-therapy/

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
การรักษาโรคมะเร็ง การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด chemotherapy การใช้รังสีรักษา radiotherapy ภูมิคุ้มกันบำบัด immunotherapy T cells T cell receptor TCR adoptive cell transfer CD19 โปรตีนลูกผสม chimeric antigen receptor CAR extracellular CAR
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้