หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Levetiracetam กับความเสี่ยงต่อ neuroleptic malignant syndrome

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มีนาคม ปี 2561 -- อ่านแล้ว 18,596 ครั้ง
 

Neuroleptic malignant syndrome เป็นกลุ่มอาการของความผิดปกติที่เกิดกับประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้อและประสาทอัตโนวัติ (autonomic dysfunction) เป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดได้ในผู้ที่ใช้ยากลุ่ม neuroleptic agents เช่น ยาต้านอาการทางจิต (antipsychotics) หรือยาอื่นที่ออกฤทธิ์รบกวนการส่งสารสื่อประสาทโดพามีน (dopamine) ในระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกตินี้แม้จะเกิดได้ในผู้ที่มีอายุ 0.9-78 ปี แต่ส่วนใหญ่พบในช่วงวัยหนุ่มสาว อาการที่พบ เช่น มีไข้ มีอาการทางระบบประสาท มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและอารมณ์ กล้ามเนื้อเกร็ง การเต้นของหัวใจและความดันโลหิตผิดปกติ ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด neuroleptic malignant syndrome มีหลายชนิด (ดูตาราง) ที่พบได้บ่อยเป็นยาในกลุ่ม typical neuroleptic agents (เช่น haloperidol, chlorpromazine, fluphenazine) นอกจากนี้การหยุดใช้ยาพวก dopaminergic agents อาจเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกตินี้ได้เช่นกัน เมื่อเกิด neuroleptic malignant syndrome ต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยการหยุดยาที่เป็นต้นเหตุพร้อมทั้งให้การรักษาตามอาการ โดยการรักษาแบบประคับประคองและการใช้ยารักษาหากมีอาการรุนแรง ปัจจุบันมีอัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 1960 ที่เพิ่งเริ่มรู้จักภาวะผิดปกติดังกล่าว ซึ่งในช่วงนั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 76% ในขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่าอัตราการเสียชีวิตเหลือประมาณ 10-20% ทั้งนี้อาจเนื่องจากมีความระมัดระวังมากขึ้น มีการวินิจฉัยได้เร็วขึ้นและมีการรักษาที่ดีขึ้น

Levetiracetam เป็นยาต้านชัก (anticonvulsant drug) หรือยาต้านโรคลมชัก (anti-epileptic drug) กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ลดการกระตุ้นเซลล์ประสาทโดยจับที่ synaptic vesicle glycoprotein 2A จึงขัดขวางการนำสัญญาณผ่านจุดประสานประสาท (synapse) เมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศญี่ปุ่นมีรายงานถึงการเกิด neuroleptic malignant syndrome จากยาดังกล่าว โดยในช่วงเวลา 3 ปี (นับตั้งแต่ปี 2014) พบในผู้ป่วยจำนวน 3 ราย แต่ไม่มีรายใดเสียชีวิต ผลจากข้อมูลดังกล่าวทำให้ Ministry of Health, Labour and Welfare (MHLW) และ Pharmaceuticals and Medical Devices Agency (PMDA ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกันกับองค์กร Food and Drug Administration) ของประเทศญี่ปุ่นได้ขอให้บริษัทผู้ผลิตยานี้ ปรับปรุงเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์โดยให้มีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อ neuroleptic malignant syndrome ไว้ด้วย ควรเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เพื่อติดตามอาการและอาการแสดงของ neuroleptic malignant syndrome เช่น มีไข้ กล้ามเนื้อเกร็ง เอนไซม์ creatinine kinase เพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกตัวเปลี่ยนไป (disturbed consciousness) เหงื่อออก เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทำงานของไตลดลงร่วมกับการมีไมโอโกลบินในปัสสาวะ (myoglobinuria) ได้ หากเกิด neuroleptic malignant syndrome ควรหยุดรีบยาและให้การรักษาอาการที่เกิดขึ้น เช่น ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง ให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ช่วยการหายใจ

อ้างอิงจาก

(1) PMDAPharmaceuticals and Medical Devices Agency. Summary of investigation results: levetiracetam, 17 October 2017. http://www.pmda.go.jp/files/000220549.pdf; (2) Wijdicks EFW. Neuroleptic malignant syndrome. Last updated: November 27, 2017. https://www.uptodate.com/contents/neuroleptic-malignant-syndrome; (3) Simon LV, Callahan AL. Neuroleptic malignant syndrome. Last update: January 4, 2018. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482282/

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
neuroleptic malignant syndrome ประสาทอัตโนวัติ autonomic dysfunction neuroleptic agents ยาต้านอาการทางจิต antipsychotics สารสื่อประสาทโดพามีน dopamine typical neuroleptic agents haloperidol chlorpromazine fluphenazine dopaminergic agents
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้