หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน...ประสิทธิภาพในคนอ้วนเกิน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กันยายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 6,948 ครั้ง
 
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินหรือยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills; morning-after pills) เป็นยาที่ใช้หลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้วเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ อันเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดการณ์หรือไม่ได้ป้องกัน ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ใช้ในประเทศไทยมักเป็นชนิดที่มีตัวยาสำคัญคือ levonorgestrel 0.75 มิลลิกรัม ประสิทธิภาพของยานี้ที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิดฉุกเฉินในคนอ้วนเกินจะลดลงหรือไม่นั้นยังไม่มีความชัดเจน

จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์พบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนที่รับประทาน levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัม มีระดับยาในซีรัมราวครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) ปกติ และเมื่อรับประทานเพิ่มเป็น 3.0 มิลลิกรัมจึงมีระดับยาเท่าผู้ไม่อ้วนที่รับประทานขนาด 1.5 มิลลิกรัม หากพิจารณาตามข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ดังกล่าว ในทางคลินิกผู้หญิงที่อ้วนเกินอาจต้องใช้ขนาดยาเป็น 2 เท่าของขนาดยาที่แนะนำไว้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาโดยตรงถึงตัวชี้วัดที่จะแสดงถึงประสิทธิภาพของยา เช่น การตกไข่หรือการตั้งครรภ์ เมื่อไม่นานมานี้ WHO ได้มีรายงานออกมาว่าผลที่ได้จาก 4 การศึกษาไม่พบการเพิ่มขึ้นของอัตราการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัม/(เมตร)(เมตร) หรือน้ำหนักเกิน 80 กิโลกรัม ขณะนี้แม้ว่าแนวทางการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินของหลายองค์กรยังไม่ได้แนะนำเรื่องการเพิ่มขนาดยาไว้ แต่ให้ข้อมูลว่าประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจลดลงในผู้หญิงที่อ้วนเกิน อย่างไรก็ตามมีบางองค์กรเช่นกันที่ให้ข้อแนะนำในการเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า (levonorgestrel) ในผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกิน 26 กิโลกรัม/(เมตร)(เมตร) หรือน้ำหนักเกิน 70 กิโลกรัม

อ้างอิงจาก:

(1) Praditpan P, Hamouie A, Basaraba CN, Nadakumar R, Cremers S, Davis AR, et al. Pharmacokinetics of levonorgestrel and ulipristal acetate emergency contraception in women with normal and obese body mass index. Contraception 2017;95:464-9; (2) Festin MP, Peregoudov A, Seuc A, Kiarie J, Temmerman M. Effect of BMI and body weight on pregnancy rates with LNG as emergency contraception: analysis of four WHO HRP studies. Contraception 2017;95:50-4; (3) Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare, UK. FSRH guideline: emergency contraception, updated 29 May 2017; (4) Trussell J, Raymond EG, Cleland K. Emergency Contraception: a last chance to prevent unintended pregnancy, June 2017. Office of Population Research, Princeton University. http://ec.princeton.edu/questions/ec-review.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน emergency contraceptive pill morning-after pill การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ levonorgestrel การคุมกำเนิดฉุกเฉินในคนอ้วน เภสัชจลนศาสตร์ ดัชนีมวลกาย WHO body mass index BMI
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้