หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Corticosteroids ชนิดใช้เฉพาะที่หรือใช้ภายนอก...อาจทำให้ศูนย์กลางจอประสาทตาบวม

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน สิงหาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 28,567 ครั้ง
 

Corticosteroids เป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก (adrenal cortex) ส่วนใหญ่จะหมายถึงกลุ่ม glucocorticoids ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ในกรณีที่เป็นยาจะเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น เช่น prednisone, prednisolone, methylprednisolone, triamcinolone, betamethasone, dexamethasone, beclomethasone, budesonide, clobetasol มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาใช้ลดการอักเสบและกดภูมิต้านทานในโรคต่างๆ ยาที่ใช้มีทั้งชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (systemic corticosteroids) โดยทำเป็นยาฉีดหรือยาเม็ดสำหรับรับประทาน ชนิดออกฤทธิ์เฉพาะที่ เช่น ยาสูดพ่นทางปาก ยาพ่นจมูก ยาหยอดตา ยารับประทานชนิดออกฤทธิ์ภายในลำไส้ (ไม่ถูกดูดซึม) และชนิดใช้ภายนอก เช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง แม้ยาในกลุ่มนี้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย แต่อาการไม่พึงประสงค์มีมากด้วยเช่นเดียวกันซึ่งรวมถึงอาจทำให้เกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวม

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมหรือโรคจุดรับภาพบวม (central serous chorioretinopathy) เกิดจากการรั่วซึมของสารน้ำออกจากหลอดเลือดไปสะสมที่ศูนย์กลางจอประสาทตาซึ่งเป็นจุดรับภาพชัด ทำให้บวมนูนและมีขอบเขตชัดเจน รบกวนการมองเห็น เกิดภาพมัว ขนาดภาพเล็กลง ตาสู้แสงสว่างไม่ได้ และอาจเกิดจอตาลอก (retinal detachment) เป็นโรคที่เกิดขึ้นยาก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในช่วงอายุ 40-50 ปี ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มีหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม โรคความดันโลหิตสูง ความเครียด ความวิตกกังวล การเป็นโรคบางอย่าง เช่น Cushing disease ตลอดจนการใช้ยาบางชนิด ยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด ในกรณีที่เกี่ยวกับยานั้นพบว่ายาในกลุ่ม corticosteroids มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ซึ่งมักเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง และเกิดได้แม้รับประทานยาในขนาดเพียงวันละ 10-15 มิลลิกรัม ส่วนระยะเวลาที่ใช้ยาอาจใช้เวลาเพียง 2 หรือ 3 วัน ไปจนถึงนานหลายปี ตัวอย่างเช่น ผู้ที่รับประทาน prednisone วันละ 20 มิลลิกรัม นาน 3 เดือน เพื่อรักษาโรค polymyalgia rheumatica และเมื่ออาการดีขึ้นจึงลดเหลือวันละ 14 มิลลิกรัม ต่อมาไม่นานเกิดการบวมของศูนย์กลางจอประสาทตา (ดูรูป) นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ใช้ corticosteroids ชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย เช่น โรค multiple sclerosis หรือใช้เฉพาะที่เพื่อให้ออกฤทธิ์ในลำไส้เพื่อรักษาโรคลำไส้อักเสบ ชนิด ulcerative colitis จากรายงานที่ผ่านมาแม้ว่าส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมจากการใช้ corticosteroids ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมอาจเกิดในผู้ที่ใช้ corticosteroids ชนิดใช้เฉพาะที่หรือใช้ภายนอกได้เช่นกัน ซึ่งครอบคลุมถึงชนิดยาสูดพ่นทางปาก ชนิดที่ให้ทางจมูก ชนิดฉีดเข้า epidural space ชนิดฉีดเข้าข้อ ชนิดทาผิวหนัง ชนิดหยอดตา ขณะนี้บางประเทศกำลังติดตามถึงอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวผ่านบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้มีการรายงานเกี่ยวกับเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมที่อาจเกิดจากการใช้ corticosteroids พร้อมทั้งให้บุคลากรทางการแพทย์แนะนำผู้ป่วยที่ใช้ corticosteroids ไม่ว่าจะเป็นชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ชนิดใช้เฉพาะที่และชนิดใช้ภายนอก ให้เฝ้าระวังถึงการเกิดความผิดปกติในการมองเห็น เช่น ภาพมัว ขนาดและลักษณะภาพผิดไป หากเกิดความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับการมองเห็นให้รายงานแพทย์ผู้ให้การรักษา เพื่อการพิจารณาส่งต่อจักษุแพทย์ต่อไป

อ้างอิงจาก:

(1) Corticosteroids: rare risk of central serous chorioretinopathy with local as well as systemic administration. Drug Safety Update volume 11 issue 1, August 2017: 2; (2) Geoffroy M, Afriat M, Fauconier M, Eschard JP, Salmona JH. Adverse effect of corticosteroid therapy: central serous chorioretinopathy. Joint Bone Spine, 2017. http://dx.doi.org/10.1016/j.jbspin.2017.02.001; (3) Clarke C, Smith SV, Lee AG. A rare association: Cushing disease and central serous chorioretinopathy. Can J Ophthalmol 2017;52:e77-e79.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
corticosteroid ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก adrenal cortex prednisone prednisolone methylprednisolone triamcinolone betamethasone dexamethasone beclomethasone budesonide clobetasol systemic corticosteroid ยาสูดพ่นทางปาก ยาพ่นจมูก ยาห
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้