Denosumab กับความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกตายที่ช่องหูชั้นนอก
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มิถุนายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 4,188 ครั้ง
Denosumab เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) จากสาเหตุต่างๆ และยังใช้ในขนาดสูงเพื่อรักษา skeletal-related events อันมีเหตุจากโรคมะเร็ง ยานี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญและพัฒนาการของเซลล์สลายกระดูก (osteoclastogenesis) ซึ่งเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) จะเจริญและมีพัฒนาการเต็มที่ได้นั้นต้องมีการกระตุ้นตัวรับ RANK (receptor activator of nuclear factor kappa-B) บนเซลล์สลายกระดูกด้วย RANKL (RANK ligand) กล่าวคือต้องมี RANK-RANKL binding เกิดขึ้น ยา denosumab เป็น fully human monoclonal IgG2 antibody ที่เจาะจงกับ RANKL จึงขัดขวาง RANKL ไม่ให้จับกับ RANK ด้วยเหตุนี้ denosumab ออกฤทธิ์เป็น RANKL inhibitor หรือ RANK-RANKL binding inhibitor ความเสี่ยงของ denosumab ที่ทำให้เกิดกระดูกขากรรไกรตายนั้นเป็นที่ทราบกันแล้ว (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “Denosumab...มีความเสี่ยงต่อกระดูกขากรรไกรตาย” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2558) เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า denosumab มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกตาย (osteonecrosis) ที่ช่องหูชั้นนอก (external auditory canal) ด้วย
การตายของกระดูกช่องหูชั้นนอกที่เนื่องจากยานั้นเกิดได้ยาก มีรายงานก่อนหน้านี้ถึงความเสี่ยงต่อการตายของกระดูกช่องหูชั้นนอกในผู้ที่ใช้ bisphosphonates ซึ่งเป็นเหตุให้บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร (UK) มีการทบทวนข้อมูลการใช้ยา denosumab และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับการตายของกระดูกช่องหูชั้นนอก จากข้อมูลขณะนี้มีรายงานถึงการเกิดกระดูกตายที่ช่องหูชั้นนอกในผู้ที่ใช้ denosumab แล้วไม่น้อยกว่า 5 รายงานจากทั่วโลก โดยเกิดกับผู้ที่ใช้ยาในขนาด 60 มิลลิกรัมเพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน ในสหราชอาณาจักรจึงให้มีการปรับปรุงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มี denosumab โดยเพิ่มคำเตือนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกตายที่ช่องหูชั้นนอก พร้อมทั้งมีข้อแนะนำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้
- ควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการตายของกระดูกช่องหูชั้นนอกในผู้ที่ได้รับ denosumab ที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหู ซึ่งรวมถึงมีการติดเชื้อเรื้อรังที่หูหรือผู้ที่สงสัยว่าเกิด cholesteatoma (มีลักษณะเป็นถุงหรือก้อนคล้ายเนื้องอกของผิวหนังพบที่หูชั้นกลาง)
- การได้รับยาสเตียรอยด์และเคมีบำบัดจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีความผิดปกติที่หู เช่น การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อ เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ก็ตาม
- แนะนำผู้ป่วยให้รายงานความผิดปกติที่เกิดกับหูในช่วงที่ได้รับการรักษาด้วย denosumab เช่น อาการปวดหู มีสิ่งคัดหลั่งปล่อยออกมา (discharge) หรือเกิดการติดเชื้อ
- ให้จัดทำรายงานแจ้งไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องหากมีผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยว่าจะมีกระดูกตายเกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอันอาจเกิดจากยาไม่ว่าจะเป็น denosumab หรือยาอื่นก็ตาม
นอกจากนี้ ขณะนี้ในสหราชอาณาจักรยังมีการทบทวนข้อมูลการใช้ยา denosumab และยาในกลุ่ม bisphosphonates เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกตายที่อื่นนอกเหนือจากกระดูกขากรรไกรและกระดูกช่องหูชั้นนอก
อ้างอิงจาก:
(1) Denosumab (Prolia, Xgeva): reports of osteonecrosis of the external auditory canal. Drug Safety Update volume 10 issue 11, June 2017: 1 (2) Committee for Medicinal Products for Human Use (CHMP). DenosumabScientific conclusions and grounds for the variation to the terms of the marketing authorisation(s). EMA/502316/2017, 21 April 2017. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Scientific_Conclusion/human/001120/WC500232902.pdf
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
denosumab
osteoporosis
skeletal-related event
osteoclastogenesis
osteoclast
RANK
receptor activator of nuclear factor kappa-B
RANKL
RANK ligand
RANK-RANKL binding
denosumab
fully human monoclonal IgG2 antibody
RANKL inhibitor
RANK-RANKL