หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Vancomycin…ยังคงเป็นยาที่ดีสำหรับแบคทีเรียที่ดื้อยา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มิถุนายน ปี 2560 -- อ่านแล้ว 26,642 ครั้ง
 
Vancomycin เป็น glycopeptide antibiotic มีใช้มาตั้งแต่ราวกลางทศวรรษ 1950 ปัจจุบันยังเป็นยาที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาการติดเชื้อรุนแรงที่เกิดจาก Gram-positive bacteria รวมถึง methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ส่วนใหญ่ให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำแบบ infusion ในบางกรณีอาจให้เข้าช่องท้องโดยตรงหรือให้รับประทาน อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญที่สุดคือความเป็นพิษต่อไต (nephrotoxicity) ซึ่งแม้กลับคืนปกติได้เมื่อหยุดยา แต่ก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลนานขึ้นและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก

ในสหภาพยุโรป (European Union) โดย Committee for Medicinal Products for Human Use (CHMP) ซึ่งเป็นคณะกรรมการภายใต้ European Medicines Agency (EMA) ได้ทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับ vancomycin ชนิดฉีดและชนิดรับประทานเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีการใช้ยานี้อย่างเหมาะสมในการรักษาแบคทีเรียที่ดื้อยาและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา ภายหลังการทบทวนขัอมูล CHMP ได้มีความเห็นว่า vancomycin ยังคงมีความสำคัญในการรักษาการติดเชื้อรุนแรง โดยยังคงเป็นยาที่ดีสำหรับแบคทีเรียที่ดื้อยา พร้อมทั้งมีข้อแนะนำล่าสุดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้

Vancomycin ชนิดฉีด

- vancomycin ที่ให้แบบ infusion ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัย เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคที่เรียที่ไวต่อยานี้ ได้แก่ การติดเชื้อซับซ้อนที่เนื้อเยื่ออ่อน (complicated soft-tissue infections) การติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ (bone and joint infections) ปอดอักเสบที่เกิดในและนอกโรงพยาบาล (community- and hospital-acquired pneumonia) รวมถึงกรณีใส่ท่อช่วยหายใจ (ventilator-associated pneumonia) เยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (infective endocarditis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันจากแบคทีเรีย (acute bacterial meningitis) และการติดเชื้อแบคทีเรียในเลือดที่สัมพันธ์กับโรคติดเชื้อที่กล่าวมา นอกจากนี้ยังใช้ได้สำหรับการป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียในผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดและใช้รักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบในผู้ที่ล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis-associated peritonitis)

- ขนาดยาเริ่มต้นของ vancomycin ที่ให้แบบ infusion ควรคำนวณตามอายุและน้ำหนักตัว จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าที่ผ่านมาขนาดยาเริ่มต้นที่แนะนำมักให้ระดับยาในซีรัมต่ำกว่าระดับที่ต้องการประสิทธิผลสูงสุดในการรักษา ส่วนการปรับขนาดยาครั้งต่อไปเพื่อให้ถึงความเข้มข้นในการรักษาควรขึ้นกับระดับยาในซีรัมที่วัดได้ก่อนให้ยา

- vancomycin ชนิดฉีดตำรับที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ทางปากได้นั้น ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัยและให้ใช้เฉพาะเพื่อรักษาการติดเชื้อ Clostridium difficile ในทางเดินอาหาร

- vancomycin ชนิดฉีดตำรับที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ทางช่องท้อง ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัยและให้ใช้เฉพาะเพื่อรักษาการติดเชื้อในช่องท้องที่เกิดจากการล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal dialysis)

- ไม่ควรใช้ vancomycin ในการรักษาลำไส้อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ S. aureus (staphylococcal enterocolitis) หรือใช้เพื่อกำจัดแบคทีเรียในการสวนล้างระบบทางเดินอาหาร (gastro-intestinal decontamination) ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนถึงประโยชน์ของยาในทั้งสองกรณีนี้

Vancomycin ชนิดแคปซูล

- vancomycin ชนิดแคปซูล ใช้เฉพาะเพื่อรักษาการติดเชื้อ Clostridium difficile ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ขนาดยาสูงสุดไม่ควรเกินวันละ 2 กรัม ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีควรใช้ตำรับยาที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก ในผู้ที่มีลำไส้อักเสบควรติดตามระดับยาในซีรัมอย่างใกล้ชิด

- ไม่ควรใช้ vancomycin ชนิดรับประทานเพื่อรักษาลำไส้อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ S. aureus หรือใช้เพื่อกำจัดแบคทีเรียในการสวนล้างระบบทางเดินอาหารในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนถึงประโยชน์ของยาในทั้งสองกรณีนี้

อ้างอิงจาก:

(1) Jeffres MN. The whole price of vancomycin: toxicities, troughs, and time. Drugs 2017;77:1143-54; (2) EMA recommends changes to prescribing information for vancomycin antibiotics. EMA Press release, 19 May 2017. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/Press_release/2017/05/WC500228066.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
vancomycin glycopeptide antibiotic Gram-positive bacteria methicillin-resistant Staphylococcus aureus Staphylococcus aureus nephrotoxicity European Union Committee for Medicinal Products for Human Use CHMP European Medicines Agency EMA com
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้