หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (levonorgestrel)…ประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้ร่วมกับ CYP 3A4 inducers

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤศจิกายน ปี 2559 -- อ่านแล้ว 5,067 ครั้ง
 
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive) ที่ใช้กันมากเป็นยาเม็ด ตัวยาที่ออกฤทธิ์คือ levonorgestrel 0.75 มิลลิกรัม รับประทานภายหลังการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การคุมกำเนิดล้มเหลว การคุมกำเนิดด้วยวิธีไม่ถูกต้อง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ขนาดยาที่แนะนำคือ รับประทาน 1 เม็ดภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีก 1 เม็ดห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง การรับประทานที่ช่วงเวลาแตกต่างจากนี้ให้ประสิทธิผลเช่นกัน รวมถึงอาจรับประทานครั้งเดียว 2 เม็ด การเริ่มรับประทานเร็วจะยิ่งให้ประสิทธิผลดี

เป็นที่ทราบกันว่า levonorgestrel เปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์ในกลุ่ม CYP3A4 ดังนั้นยา (รวมทั้งสมุนไพร) ที่มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์ CYP3A4 (CYP 3A4 inducers) จึงอาจทำให้ระดับ levonorgestrel ในเลือดลดลงทำให้ประสิทธิผลของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินลดลงได้ เช่น efavirenz ซึ่งเป็นยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral) ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (anti-HIV/AIDS drug) ลดปริมาณ levonorgestrel ในเลือด (area under the concentration-time curve; AUC) ได้ราว 50% แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนสำหรับยาอื่นที่มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์ CYP3A4 แต่จากข้อมูลที่ศึกษาเกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม (combined hormonal contraceptives) ที่มี levonorgestrel เป็นส่วนผสม คาดว่ายาอื่นๆ อาจลดระดับ levonorgestrel ในเลือดได้คล้ายกัน ระดับเอนไซม์ CYP3A4 ที่สูงขึ้นนั้นคงอยู่ได้นานถึง 4 สัปดาห์หลังจากหยุดยาที่ชักนำการสร้างเอนไซม์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น MHRA (the Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency) ซึ่งเป็น executive agency ในสังกัดของ Department of Health ของสหราชอาณาจักร (UK) มีข้อแนะนำว่าสตรีที่ต้องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน หากมีการใช้ยาที่ชักนำการสร้างเอนไซม์ CYP3A4 (ดูข้างล่าง) ในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ควรคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การรับประทานยาประเภทฮอร์โมน เช่นใช้ copper intrauterine device (ใส่ไว้เป็นเวลา 5 วัน หลังการมีเพศสัมพันธ์) หากไม่เลือกวิธีดังกล่าวและยังคงจะใช้ยา levonorgestrel แนะนำให้เพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า กล่าวคือ เดิมขนาดยาที่รับประทานโดยรวมเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัม จะเพิ่มเป็นขนาดโดยรวม 3 มิลลิกรัม (2 กล่อง)

ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างยา (รวมทั้งสมุนไพร) ที่มีฤทธิ์ชักนำการสร้างเอนไซม์ CYP3A4 และลดระดับ levonorgestrel ในเลือดได้

• ยารักษาโรคลมชัก เช่น barbiturates, primidone, phenytoin, carbamazepine

• ยารักษาวัณโรค เช่น rifampicin, rifabutin

• รักษาการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ritonavir, efavirenz

• รักษาการติดเชื้อรา เช่น griseofulvin

• ยาประเภทสมุนไพร เช่น St. John’s wort (Hypericum perforatum)

อ้างอิงจาก:

(1) Levonorgestrel-containing emergency hormonal contraception: advice on interactions with hepatic enzyme inducers and contraceptive efficacy. Drug Safety Update Volume 10 Issue 2, September 2016: 1; (2) Emergency contraception [WHO]. http://who.int/mediacentre/factsheets/fs244/en/

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
levonorgestrel CYP 3A4 inducer emergency contraceptive CYP3A4 antiretroviral anti-HIV/AIDS drug area under the concentration-time curve AUC combined hormonal contraceptive MHRA Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency executive
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้