Direct acting antivirals (DAAs) เป็นยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งกระบวนการต่างๆ ในวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C virus; HCV) ซึ่ง HCV มี 6 สายพันธุ์ (genotype) แต่ละสายพันธุ์มีการกลายพันธุ์เป็นอีกหลายสายพันธุ์ย่อย (subtype) พบผู้ติดเชื้อ HCV สายพันธุ์ 1 ได้มากที่สุด แบ่ง DAAs ตามการออกฤทธิ์ในการยับยั้ง HCV-coding proteins ได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. NS3/4A protease inhibitors แบ่งออกเป็น
- ยารุ่นแรก (first generation) แบ่งย่อยเป็น first-wave NS3/4A protease inhibitors เช่น telaprevir, boceprevir และ second-wave NS3/4A protease inhibitors เช่น faldaprevir, asunaprevir, simeprevir, danoprevir, vaniprevir, paritaprevir
- ยารุ่นที่สอง (second generation) เช่น sovaprevir, grazoprevir, GS-9857 มีประสิทธิภาพต่อ HCV หลายสายพันธุ์และมีความปลอดภัยสูงกว่ายารุ่นแรก
อาจแบ่ง NS3/4A protease inhibitors ตามโครงสร้างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม linear analogs (linear noncovalent inhibitors) เช่น telaprevir, boceprevir, faldaprevir, asunaprevir, sovaprevir และกลุ่ม macrocyclic analogs (macrocyclic inhibitors) เช่น simeprevir, danoprevir, vaniprevir, paritaprevir, grazoprevir
2. NS5A inhibitors แบ่งออกเป็น
- ยารุ่นแรก (first generation) เช่น daclatasvir, ledipasvir, ombitasvir
- ยารุ่นที่สอง (second generation) เช่น elbasvir, velpatasvir, ACH-3102 มีประสิทธิภาพต่อ HCV หลายสายพันธุ์ ยาบางชนิดครอบคลุมทุกสายพันธุ์
3. NS5B polymerase inhibitors แบ่งออกเป็น
- nucleoside (nucleotide) polymerase inhibitors เช่น sofosbuvir
- non-nucleoside (non-nucleotide) polymerase inhibitors เช่น beclabuvir, dasabuvir, radalbuvir, MK-3682
DAAs มีประสิทธิภาพมากในการกำจัด HCV (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเรื่อง “Direct acting antivirals (DAAs)…จุดจบของไวรัสตับอักเสบซี?” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ตุลาคม ปี 2559) ยากลุ่มแรกที่นำมาใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซีคือ NS3/4A protease inhibitors รุ่นแรก (เช่น telaprevir, boceprevir) โดยใช้ร่วมกับ Peg-IFN และ ribavirin ให้อัตราการตอบสนอง (sustained virological response; SVR) สูงมาก (มากกว่า 90%) อย่างไรก็ตาม การที่ต้องใช้ร่วมกับ Peg-IFN ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางรายต้องหยุดใช้ยา ต่อมาเมื่อมีการพัฒนา DAAs ชนิดใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังจึงพัฒนามาสู่ interferon-free oral therapy ซึ่งให้ประสิทธิผลดี อย่างไรก็ตาม ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังด้วย DAAs แม้จะให้อัตรา SVR เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่มีผู้ป่วยประมาณ 5% ที่กลับมาเป็นซ้า จึงต้องมีการพัฒนายา DAA ชนิดใหม่ๆ รวมถึงมีการศึกษาถึงการใช้ยาสูตรผสมชนิดต่างๆ โดยการเปลี่ยนชนิดยา DAA ที่ให้ร่วมกับ ribavirin หรือเพิ่ม DAA ชนิดอื่นลงไปในยาสูตรผสมเดิม หรือใช้ยาร่วมกันเองในกลุ่ม DAAs (ดูรูป) เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษารวมถึงลดการกลับมาเป็นซ้า
อ้างอิงจาก:
(1) Tamori A, Enomoto M, Kawada N. Recent advances in antiviral therapy for chronic hepatitis C. Mediators Inflamm 2016. doi: 10.1155/2016/6841628; (2) Götte M, Feld JJ. Direct-acting antiviral agents for hepatitis C: structural and mechanistic insights. Nat Rev Gastroenterol Hepatol 2016;13:338-51; (3) Zopf S, Kremer AE, Neurath MF, Siebler J. Advances in hepatitis C therapy: What is the current state - what come’s next? World J Hepatol 2016;8:139-47.