Bisphosphonates เป็นยาที่ใช้มากในการป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) และยังใช้ประโยชน์ในโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสลายของกระดูก (bone resorption) มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ bisphosphonates ชนิดรับประทานว่าอาจทำให้หลอดอาหารอักเสบและเป็นแผลได้ จึงมีคำแนะนำให้รับประทานยาในตอนเช้าหลังตื่นนอนและภายหลังรับประทานยาจะไม่กลับไปนอนต่ออีก ได้มีการศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของ bisphosphonates ชนิดรับประทานกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่หลอดอาหาร (esophageal cancer) โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบมากขึ้นและคำนึงถึงปัจจัยกวนบางอย่างร่วมด้วยได้รายงานผลการศึกษาที่ต่างออกไป โดยพบว่าการใช้ bisphosphonates ชนิดรับประทานไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารอีกทั้งไม่เพิ่มตามระยะเวลาที่ใช้ยา ดังตัวอย่างการศึกษาที่รายงานเมื่อเร็วนี้ เป็นการศึกษาในประชากรประเทศเกาหลีใต้ 2,167,955 คน อายุเฉลี่ย 65.6±8.8 ปี ที่ได้รับยารักษาภาวะกระดูกพรุน (bisphosphonate ชนิดรับประทาน, bisphosphonate ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือ raloxifene) หรือเป็นผู้ที่เข้ารับการตรวจมวลกระดูกด้วย dual energy X-ray absorptiometry (DXA) ช่วงปี 2008-2012 เพื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับ bisphosphonate ชนิดรับประทาน ซึ่งได้แก่ alendronate, risedronate หรือ ibandronate (n=1,435,846) กับกลุ่มที่ 1 ซึ่งได้รับ bisphosphonate ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ได้แก่ ibandronate หรือได้รับ raloxifene (n=78,363) หรือกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ารับการตรวจด้วย DXA (n = 653,746) ระยะเวลาที่ติดตามผลเฉลี่ย 30.9±17.7 เดือน พบอุบัติการณ์ต่อปี (annual incidence) ของโรคมะเร็งหลอดอาหารในกลุ่มที่ได้รับ bisphosphonate ชนิดรับประทานเท่ากับ 3.88 เทียบกับ 4.21 และ 3.30 ที่พบในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ตามลำดับ อัตราอุบัติการณ์มาตรฐาน (standardized incidence ratio) ซึ่งในการศึกษาดังกล่าวเป็นค่าที่ประมาณการโดยเทียบกับอุบัติการณ์ในประชากรทั่วไปพบในกลุ่มที่ได้รับ bisphosphonate ชนิดรับประทานเท่ากับ 1.24 เทียบกับ 1.38 และ 1.40 ที่พบในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ตามลำดับ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารในกลุ่มที่ได้รับ bisphosphonate ชนิดรับประทานไม่ต่างจากกลุ่มที่ 1 (ค่า age-adjusted hazard ratio เท่ากับ 0.87; 95% confidence interval เท่ากับ 0.39-1.98) และไม่ต่างจากกลุ่มที่ 2 (ค่า age-adjusted hazard ratio เท่ากับ 0.94; 95% confidence interval เท่ากับ 0.68-1.30) (ดูรูป)
อ้างอิงจาก:
(1) Reyes C, Hitz M, Prieto-Alhambra D, Abrahamsen B. Risks and benefits of bisphosphonate therapies. J Cell Biochem 2016;117:20-8; (2) Morden NE, Munson JC, Smith J, Mackenzie TA, Liu SK, Tosteson AN. Oral bisphosphonates and upper gastrointestinal toxicity: a study of cancer and early signals of esophageal injury. Osteoporos Int 2015;26:663-72; (3) Wright E, Schofield PT, Molokhia M. Bisphosphonates and evidence for association with esophageal and gastric cancer: a systematic review and meta-analysis. BMJ Open 2015;5:e007133 doi:10.1136/bmjopen-2014-007133; (4) Seo GH, Choi HJ. Oral bisphosphonate and risk of esophageal cancer: a nationwide claim study. J Bone Metab 2015;22:77-81.