Neurokinin receptor หรือ tachykinin receptor เป็นตัวรับของสารในกลุ่ม tachykinins ซึ่งเป็นสารประเภท peptides มีหลายชนิด เช่น neurokinin A (หรือ substance K), neurokinin B, neuropeptide K (หรือ neurokinin K), neuropeptide gamma, substance P ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบ่ง neurokinin receptor ได้อย่างน้อย 3 ชนิด ได้แก่ NK1, NK2 และ NK3 ซึ่ง NK1 ชอบจับกับ substance P มากที่สุด ในขณะที่ NK2 และ NK3 ชอบจับมากที่สุดกับ neurokinin A และ neurokinin B ตามลำดับ
มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับตัวรับชนิด NK1 พบตัวรับชนิดนี้กระจายอยู่ตามระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย (ดูรูป) ทั้งระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการนำความเจ็บปวด การหลั่งฮอร์โมน การขยายหลอดเลือด การเจริญของเซลล์ ฯลฯ เมื่อ substance P จับกับตัวรับชนิด NK1 จะส่งสัญญาณให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพและพยาธิสภาพหลายอย่าง เช่น การดำรงอยู่ของเซลล์ประสาท การควบคุมการเคลื่อนที่ของเซลล์ ความเจ็บปวด การอักเสบ ภาวะซึมเศร้า การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การสร้างเซลล์ประสาท การอาเจียน และยังกระตุ้นการเจริญของเนื้องอก การสร้างหลอดเลือดใหม่มาเลี้ยงก้อนเนื้องอก ตลอดจนการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง หากมี substance P และตัวรับชนิด NK1 มากเกินไปจะทำให้เกิดโรคและความผิดปกติหลายอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า การเสื่อมของเซลล์ประสาท ความเจ็บปวด โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคมะเร็ง โรคลำไส้อักเสบ การอาเจียน เป็นที่ทราบกันว่าในสมอง substance P และตัวรับชนิด NK1 เกี่ยวข้องกับการอาเจียน ขณะนี้ tachykinin receptor antagonists ที่มีใช้เป็นยาเป็นชนิด NK1 receptor antagonists ซึ่งยาตัวแรกได้แก่ aprepitant มีใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เป็นยารับประทานเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดจากเคมีบำบัด (chemotherapy-induced nausea and vomiting) ในบางประเทศยังได้รับข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนภายหลังการผ่าตัด (postoperative nausea and vomiting) อีกด้วย ยาตัวต่อมาคือ fosaprepitant เป็น prodrug ของ aprepitant ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ นอกจากนี้ยังมียาใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อมานานมานี้ คือ netupitant และ rolapitant การที่ substance P เมื่อจับกับตัวรับชนิด NK1 แล้วทำให้เกิดพยาธิสภาพหลายอย่างดังกล่าวข้างต้น จึงมีผู้สนใจศึกษาคิดค้นยาที่เป็น NK1 receptor antagonists เพื่อใช้รักษาโรคอื่นที่นอกเหนือจากการใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียน เช่น โรคซึมเศร้า โรคมะเร็ง ยาที่นำมาศึกษาเป็นยาที่มีใช้อยู่แล้วได้แก่ aprepitant ส่วน NK1 receptor antagonists ชนิดอื่นที่นำมาศึกษาฤทธิ์ต้านซึมเศร้า เช่น casopitant, orvepitant, L-759,274, CP-122,721 ส่วนในด้านที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งนั้น ในเบื้องต้นเมื่อศึกษาโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ พบว่า aprepitant มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิด
อ้างอิงจาก:
(1) Garcia-Recio S, Gascón P. Biological and pharmacological aspects of the NK1-receptor. Biomed Res Int 2015;2015:495704.doi: 10.1155/2015/495704; (2) Muñoz M, Coveñas R. Involvement of substance P and the NK-1 receptor in human pathology. Amino Acids 2014;46:1727-50; (3) Muñoz M, Coveñas R, Esteban F, Redondo M. The substance P/NK-1 receptor system: NK-1 receptor antagonists as anti-cancer drugs. J Biosci 2015;40:441-63.