Proton pump inhibitors (PPIs) เป็นยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ hydrogen/potassium adenosine triphosphatase (H+/K+ ATPase หรือ gastric proton pump) ยาในกลุ่มนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อรักษาโรคในทางเดินอาหารที่สัมพันธ์กับกรด ได้แก่ gastric ulcers, duodenal ulcers, NSAID-associated ulcers, gastro-oesophageal reflux disease, Zollinger-Ellison syndrome และใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาการติดเชื้อ Helicobacter pylori ยาที่มีจำหน่าย ได้แก่ omeprazole, lansoprazole, rabeprazole, pantoprazole, esomeprazole และ dexlansoprazole
ความผิดปกติที่ผิวหนังชนิด subacute cutaneous lupus erythematosus ที่เกิดจากยา (drug-induced SCLE) มีลักษณะผิวหนังอักเสบแบบไร้แผลเป็น (non-scarring dermatosis) ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันทีที่ใช้ยา แต่จะใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีหลังการใช้ยา แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดรอยโรคได้ เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานการศึกษาถึงการใช้ PPIs แล้วเกิด SCLE (ดูรูป) และในการศึกษายังกล่าวถึงการเกิดปฏิกิริยาข้ามชนิดระหว่าง PPIs คนละตัวกัน (cross-reactivity)
เมื่อไม่นานมานี้ European Medicines Agency (EMA) โดย Pharmacovigilance Risk Assessment Committee (PRAC) ได้ทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเกิด SCLE กับการใช้ PPIs ซึ่งแม้จะพบว่ามีความสัมพันธ์กัน แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ยาในกลุ่มนี้แล้วถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อแนะนำให้ปรับปรุงคำเตือน/ข้อควรรระวัง ในเอกสารที่เป็นข้อมูลยาทั้ง product information (summary of product characteristics) และ package leaflet ของยาในกลุ่ม PPIs ทุกตัว โดยการเพิ่มข้อมูลดังข้างล่างนี้
• PPIs มีความสัมพันธ์กับการเกิด SCLE ที่พบได้น้อยมาก (very infrequent) ถ้าผู้ที่ใช้ PPIs แล้วเกิดรอยโรคขึ้น โดยเฉพาะที่ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสแสงแดดและมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นทันที และบุคลากรทางการแพทย์ควรพิจารณาหยุดให้ยา PPIs
• หากเกิด SCLE ภายหลังการใช้ PPI ตัวใดตัวหนึ่ง อาจเพิ่มความเสี่ยงเมื่อใช้ PPI ตัวอื่น
ในบางประเทศอาจมีข้อแนะนำเพิ่มเติม เช่น หน่วยงาน MHRA (the Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency) ซึ่งเป็น executive agency ในสังกัดของ Department of Health ของสหราชอาณาจักร (UK) ได้ให้ข้อแนะนำเหล่านี้ไม่เฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์แต่ยังรวมถึงผู้ป่วยหรือผู้ดูแล อีกทั้งยังแนะนำด้วยว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อหยุดใช้ PPI รอยโรคหายไปได้ การใช้สเตียรอยด์ทั้งชนิดที่ใช้ภายนอก (topical steroids) หรือชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (systemic steroids) อาจมีประโยชน์ในการรักษา SCLE เฉพาะกรณีที่ไม่พบสัญญาณที่ดีขึ้นหลังหยุดยาไปแล้ว 2-3 สัปดาห์หรือเป็นเดือน
อ้างอิงจาก:
(1) Sandholdt LH, Laurinaviciene R, Bygum A. Proton pump inhibitor-induced subacute cutaneous lupus erythematosus. Br J Dermatol 2014;170:342-51; (2) Pharmacovigilance Risk Assessment Committee. PRAC recommendations on signals. Adopted at the PRAC meeting of 6-9 July 2015 (EMA/PRAC/450903/2015), 23 July 2015; (3) Proton pump inhibitors: very low risk of subacute cutaneous lupus erythematosus. Drug Safety Update volume 9 issue 2 September 2015:1.