หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Ulipristal...ยาคุมฉุกเฉินชนิดใหม่ที่ต่างจาก levonorgestrel

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กันยายน ปี 2557 -- อ่านแล้ว 27,261 ครั้ง
 
Ulipristal ในรูปเกลือ acetate เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (emergency contraceptive) ชนิดใหม่ที่มีใช้ในบางประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นยาในกลุ่ม selective progesterone receptor modulator รุ่นที่ 2 มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินสูงกว่า levonorgestrel โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์แม้รับประทานยาล่าช้าออกไปจนถึง 120 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ นี้ยามีประสิทธิภาพแม้ในช่วงที่มีระดับสูงสุดของ luteinizing hormone (LH) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์เนื่องจากเป็นช่วงที่จะเกิดการตกไข่ตามมา นอกจากนี้ยายังมีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว (antiimplantation) โดยออกฤทธิ์รบกวนการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก ส่วน levonorgestrel (หรือ l-norgestrel หรือ D-norgestrel) เป็น progestin (synthetic progestogen) รุ่นที่ 2 ในการใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ชะลอหรือยับยั้งการเจริญของถุงไข่หรือการแตกของถุงไข่จึงเป็นการยับยั้งการตกไข่ หากรับประทานหลังการตกไข่หรือหลังจากเกิดระดับสูงสุดของ LH แล้วจะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้ อีกทั้ง levonorgestrel ไม่มีผลรบกวนการทำหน้าที่ของตัวอสุจิ หรือการผสมระหว่างไข่กับตัวอสุจิ หรือการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก ส่วนด้านประสิทธิภาพนั้น levonorgestrel มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 79% หากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ และประสิทธิภาพของลดลงเหลือประมาณ 60% หากรับประทานภายใน 72-120 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ ส่วน ulipristal acetate นั้นหากรับประทานภายใน 120 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์มีประสิทธิภาพสูงกว่า levonorgestrel โดยความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ (risk of pregnancy) มีเพียงครึ่งหนึ่งของการใช้ levonorgestrel ที่รับประทานภายใน 120 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน ในด้านความปลอดภัยไม่แตกต่างจาก levonorgestrel ไม่มีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง และไม่มีหลักฐานว่ายานี้ทำให้เกิดทารกพิการ (teratogenesis) หากเกิดความล้มเหลวในใช้ยากล่าวคือกรณีที่ยาไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ภาวะน้ำหนักตัวมากเกินหรือโรคอ้วนจะกระทบต่อประสิทธิภาพของยานี้น้อยกว่า levonorgestrel ส่วนขนาดยาที่แนะนำหากเป็น levonorgestrel ตามที่มีข้อแนะนำไว้ว่ารับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม จำนวน 2 ครั้ง โดยมีระยะเวลาห่างกัน 12 ชั่วโมงนั้น เพื่อความสะดวกอาจรับประทานเพียงครั้งเดียวในขนาด 1.5 มิลลิกรัม ส่วนยา ulipristal acetate ที่วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศนั้นทำเป็นยาเม็ดความแรง 30 มิลลิกรัม รับประทานเพียงเม็ดเดียวภายในภายใน 120 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์

อ้างอิงจาก:

(1) Glasier A. The rationale for use of ulipristal acetate as first line in emergency contraception: biological and clinical evidence. Gynecol Endocrinol 2014, early online: 1–3. doi: 10.3109/09513590.2014.950645; (2) Thomin A, Keller V, Daraï E, Chabbert-Buffet N. Consequences of emergency contraceptives: the adverse effects. Expert Opin Drug Saf 2014;13:893-902; (3) Gemzell-Danielsson K, Berger C, Lalitkumar PG. Mechanisms of action of oral emergency contraception. Gynecol Endocrinol 2014, early online: 1-3. doi: 10.3109/09513590.2014.950648; (4) Li HW, Lo SS, Ho PC. Emergency contraception. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2014;28:835-44

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ulipristal acetate emergency contraceptive selective progesterone receptor modulator levonorgestrel luteinizing hormone LH antiimplantation l-norgestrel D-norgestrel progestin progestogen risk of pregnancy teratogenesis
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้